ป.ป.ส. เผยยุทธศาสตร์การป้องกันยาเสพติดที่มีเป้าหมายเด็กและเยาวชน 8.7 ล้านคน

ป.ป.ส. เผยยุทธศาสตร์การป้องกันยาเสพติดที่มีเป้าหมายเด็กและเยาวชน 8.7 ล้านคน ซึ่งเป็นกำลังของชาติ เน้นการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติด แต่จะสำเร็จได้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ ปี 63 มุ่งสร้างการรับรู้ผ่านกิจกรรมสื่อออนไลน์ภายใต้แนวคิด Save Zone, No New Face

นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยภาคีได้ดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลำดับให้การป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชนมีความสำคัญเป็นอันดับแรก เนื่องจากกลุ่มประชากรดังกล่าวเป็นอนาคตของชาติ ต้องได้รับการดูแลอย่างดี และแนวทาง “ยุติธรรม สร้างสุข” ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กและเยาวชนห่างไกลจากยาเสพติด

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวต่อว่า นโยบายและแนวทางดังกล่าวได้ถูกแปลงเป็นยุทธศาสตร์การดำเนินงานในปี 2563 ที่ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในเด็กและเยาวชน โดยใช้แนวทางที่หลากหลาย เช่น การสร้างการรับรู้ การรณรงค์และประชาสัมพันธ์ในการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะช่องทางอินเตอร์เน็ต ที่พบว่าปัจจุบันเด็กและเยาวชนเข้าถึงกันอย่างมาก การพัฒนาการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดที่เหมาะสมกับช่วงวัย การยกระดับระบบดูแลช่วยเหลือและให้คำปรึกษาเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา ที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด การให้มีบุคลากรที่มีความรู้เชิงจิตวิทยาเป็นผู้ให้คำปรึกษา และการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Save Zone) ด้วยการสำรวจ ค้นหา และคัดกรองผู้เสพผู้ติดยาเสพติดที่เป็นเด็กและเยาวชน

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพิจารณาถึงจำนวนเด็กและเยาวชน ที่มีอายุอยู่ในช่วง 15-24 ปี ที่เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดในแต่ละปีงบประมาณ มีแนวโน้มลดลง คือ ในปี 2561 มี 11,132 ราย ในปี 2562 มี 10,431 ราย และ ในปี 2563 ในช่วง 9 เดือน (ตุลาคม 2562 – มิถุนายน 2563) มี 4,397 ราย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปี 2563 ได้มีการดำเนินกิจกรรมสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในเด็กและเยาวชนทุกช่วงวัยทั่วประเทศแล้วกว่า 7.3 ล้านคน โดยดำเนินการในสถานศึกษา/ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รวม 63,929 แห่ง ซึ่งเป็นผลจากการบูรณาการงานของหน่วยงานภาคี คือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทุกเหล่าทัพ

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวตอนท้ายว่า แม้แนวโน้มจำนวนเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่ระบบบำบัดรักษาจะลดลง แต่การเฝ้าระวังรวมถึงการป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในเด็กและเยาวชนก็ยังดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากประชากรกลุ่มนี้ ถือว่าเป็นวัยเสี่ยง ประกอบกับสภาพสังคมปัจจุบันมีสิ่งเร้าให้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนและนำไปสู่การกระทำผิดได้ง่าย ในขณะที่ขบวนการค้ายาเสพติดก็ทำทุกวิถีทางที่จะกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนใช้ยาเสพติดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลำเลียงยาเสพติดจำนวนมากป้อนเข้าสู่ตลาดเพื่อให้หาซื้อได้ง่าย ขณะเดียวกันก็ลดราคาขายปลีกให้ต่ำลงเพื่อให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพื่อไม่ให้มีเด็กและเยาวชนหน้าใหม่ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวทิ้งท้ายว่า กลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี หรือที่เราเรียกว่า “วัยรุ่น” นั้น มีจำนวนอยู่ประมาณ 8.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 12 ของประชากรทั้งประเทศ และเป็นที่ทราบกันดีว่าวัยนี้เป็นวัยที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาและความมั่นคงชาติในอนาคต ขณะเดียวกันก็เป็นวัยที่มีความเปราะบางทางด้านอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งนำไปสู่การมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนได้ง่าย และเป็นช่วงวัยที่หากพ่อแม่ผู้ปกครองและบุคคลแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง มีความเข้าใจในความรู้สึกนึกคิดของเขาแล้ว จะมีผลอย่างมากในการทำให้เขาไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขทั้งปวง รวมถึงยาเสพติด ดังนั้น การเข้ามาร่วมของทุกสถาบัน/องค์กร โดยเริ่มตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน สถานศึกษา และหน่วยงาน/องค์กรในสังคม ช่วยกันเฝ้าติดตาม ดูแล ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ให้โอกาส สร้างพื้นที่แสดงออก เป็นตัวอย่างที่ดี เชื่อว่าเราจะรักษาทรัพยากรบุคคลของชาติไว้สำหรับอนาคตได้ และสำหรับผู้ที่แสวงหาประโยชน์จากเด็กและเยาวชนไม่ว่าจะด้วยเรื่องใด รวมถึงเรื่องยาเสพติด ต้องคิดและหยุดการกระทำ เพราะนอกจากเป็นการทำร้ายและทำลายชีวิตของเขา ครอบครัวของเขาโดยตรงแล้ว ยังทำลายชาติด้วย

สำนักงาน ป.ป.ส. ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันสอดส่องดูแลบุตรหลาน เด็กและเยาวชน เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หากพบเห็นเด็กและเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือมีความต้องการเข้ารับการบำบัดรักษา สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386 หรือหากพบว่าเด็กและเยาวชนมีปัญหาความเครียดหรือมีอาการทางจิต สามารถโทรปรึกษาและสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร. 1323

“ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” สมัครใจเข้าบำบัด ไม่เสียประวัติ ไม่มีความผิด แจ้งเบาะแสยาเสพติด สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386