16 หน่วยงานร่วมลงนาม MOU.พัฒนาชุมชนชาวแพสะแกกรัง จ.อุทัยธานี ซ่อมแพ 127 ครัวเรือน-พัฒนาคุณภาพชีวิต-สร้างแหล่งท่องเที่ยว-วิถีชีวิตชาวแพ

อุทัยธานี/ 16 หน่วยงานร่วมลงนามความร่วมมือพัฒนาชุมชนชาวแพสะแกกรัง จ.อุทัยธานี  ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำแล้งหนักในรอบ 50 ปี  ทำให้เรือนแพเกยตื้น  ลูกบวบไม้ไผ่แตกหัก  นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการเดินทาง  การทำมาหากิน  ฯลฯ  โดย พอช.จะสนับสนุนการซ่อมแพจำนวน 127 ครัวเรือน  เริ่มซ่อมแซมเดือนสิงหาคมนี้  ขณะที่หน่วยงานต่างๆ  ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิต  สิ่งแวดล้อม  และส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว อนุรักษ์วิถีชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศ

 

ตามที่ชุมชนชาวแพที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง  อ.เมือง  จ.อุทัยธานี  กว่า 100 ครัวเรือนได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้ง  เนื่องจากแม่น้ำสะแกกรังมีปริมาณลดน้อยลง   ทำให้เรือนแพที่ปลูกอาศัยอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรังเกยตื้น  ลูกบวบแพที่ใช้พยุงแพได้รับความเสียหาย  นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาต่างๆ ติดตามมา  เช่น  มีผักตบชวาอยู่ในแม่น้ำเป็นจำนวนมาก  ทำให้การสัญจรทางเรือลำบาก  การเลี้ยงปลาในกระชังได้รับความเสียหาย  เนื่องจากน้ำเริ่มเน่าเสีย  การทำมาหากินลำบาก  ส่งผลกระทบต่อครอบครัวผู้สูงอายุ  ผู้พิการ  เด็ก  และผู้ด้อยโอกาส  ฯลฯ  นายจุติ  ไกรฤกษ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนชาวแพที่ได้รับความเดือดร้อน  โดยร่วมกับจังหวัดอุทัยธานีเริ่มสำรวจข้อมูลตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา

ล่าสุดวันที่ 11 กรกฎาคม  ระหว่างเวลา 10.30-12.00  น.  ที่เทศบาลเมืองอุทัยธานี  มีพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยชาวแพสะแกกรังและโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบทจังหวัดอุทัยธานี  โดยมีนายณรงค์  รักษ์ร้อย  ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีเป็นประธาน  มีนายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ  16 หน่วยงาน   ชาวแพสะแกกรังและผู้แทนชุมชนต่างๆ  เข้าร่วมงานประมาณ  300 คน

นายณรงค์  รักษ์ร้อย  ผวจ.อุทัยธานี  กล่าวว่า แนวคิดการพัฒนาชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรังเริ่มมานานหลายปีแล้วจากเทศบาลเมืองอุทัยธานีและทางจังหวัดอุทัยธานี  แต่ติดขัดด้วยเงื่อนไขการใช้งบประมาณและระเบียบของทางราชการ  การพัฒนาชุมชนชาวแพจึงไม่มีความคืบหน้า  จนกระทั่งนายจุติ  ไกรฤกษ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทราบเรื่อง  จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเข้ามาดูแลและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวแพ

“ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มาร่วมกันลงนามเพื่อพัฒนาชีวิตชาวแพในวันนี้   และไม่ใช่จะทำแล้วจบ  แต่จะต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอดไป  เช่น  ปัญหาน้ำเน่าเสีย  ซึ่งกรมชลประทานพยายามดึงน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาไล่น้ำเสียในแม่น้ำสะแกกรัง  และต่อไปจะมีเครื่องสูบน้ำเข้ามาช่วยเพื่อดันน้ำเสียออกไป  ส่วนปัญหาเรื่องผักตบชวา  ขณะนี้กำลังจัดเก็บ  แต่ชาวชุมชนเรือนแพตั้งแต่ต้นน้ำจะต้องลงมาช่วยกันดูแลเรื่องผักตบและสิ่งแวดล้อมทั้งสองฝั่งแม่น้ำด้วย”  ผวจ.อุทัยธานีกล่าว

นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า  ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรังถือเป็นชุมชนเรือนแพแห่งสุดท้ายในประเทศไทยที่ควรจะช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้  แต่การจะพัฒนาชุมชนชาวแพให้ประสบผลสำเร็จจะต้องประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ  คือ  1.เกิดจากความต้องการของพี่น้องชาวชุมชนเรือนแพ  2.การลงนามทำความตกลงในวันนี้ของ 16 หน่วยงานเป็นปัจจัยสำคัญที่จะหนุนเสริมให้การพัฒนาชุมชนประสบความสำเร็จ

“พอช.เข้ามาสำรวจชุมชนเรือนแพสะแกกรังจากข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อให้เข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนเรือนแพซึ่งมีเอกลักษณ์และเป็นแห่งเดียวของประเทศ  เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศต่อไป  ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลเราพบจุดอ่อนของชุมชน  แต่ก็จะพัฒนาให้เป็นจุดแข็งได้  ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็จะเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนอย่างรอบด้าน  ทั้งด้านที่อยู่อาศัย  ความยากจน  คุณภาพชีวิต  ตั้งแต่เด็ก  ผู้สูงวัย  คนพิการ  คนด้อยโอกาส  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม  และเป็นโอกาสท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19  ไปพร้อมกัน  โดยมีแนวคิดคือเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”  นายสมชาติกล่าว

ทั้งนี้นับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  เจ้าหน้าที่จากกระทรวง พม.  คือ พอช. และ พมจ.อุทัยธานีร่วมกับชุมชนชาวแพ  ได้จัดกระบวนการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน   โดยใช้วิธีการต่างๆ  เช่น  การลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับชุมชนชาวแพ  การสำรวจข้อมูลปัญหาและความต้องการ  การจัดทำแผนที่ทำมือ  ถ่ายรูป  จับพิกัด GPS  ถอดข้อมูลการซ่อมแซมเรือนแพผู้เดือดร้อน  ฯลฯ  โดยมีผู้แทนชุมชนชาวแพจำนวน 13 คนร่วมเป็นคณะทำงาน   สำรวจพบปัญหาและความต้องการของชุมชนชาวแพทั้งหมด  127 ครัวเรือน  รวม 8 ด้าน  เช่น  ปัญหาน้ำแล้ง  สิ่งแวดล้อม  ที่อยู่อาศัย  การจัดการท่องเที่ยวชุมชน  คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ  ผู้พิการ  เด็ก  ผู้ด้อยโอกาส  อาชีพ-รายได้  ด้านวัฒนธรรม  และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

ตามแผนงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชาวชุมชนเรือนแพจะเริ่มได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้  โดยจะเริ่มซ่อมแซมเรือนแพซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมเนื่องจากก่อสร้างมานาน  ประกอบกับลูกบวบที่ใช้พยุงแพซึ่งส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ไผ่ชำรุดแตกหัก  เนื่องจากน้ำในแม่น้ำสะแกกรังและเจ้าพระยามีปริมาณน้อย  ทำให้เรือนแพเกยตื้น  ลูกบวบจึงได้รับความเสียหาย  รวมทั้งหมด  127 ครัวเรือน  โดย พอช.จะสนับสนุนงบพัฒนาสาธารณูปโภค  กายภาพ  อุดหนุนการซ่อมแพ  การพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน  เฉลี่ยครัวเรือนละ 60,000 บาท  รวมงบประมาณทั้งหมด  7,420,000 บาท  และคาดว่าการซ่อมแพและพัฒนาที่อยู่อาศัยจะแล้วเสร็จบางส่วนในช่วงเดือนตุลาคมนี้

ส่วนการพัฒนาชุมชนเรือนแพสะแกกรังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไปนั้น  ตามแผนงานจะมีการส่งเสริมด้านต่างๆ เช่น 1.กลุ่มสืบสานวัฒนธรรม  อบรมให้เกิดวิทยากรชุมชน  มัคคุเทศชาวชุมชนเรือนแพ  2.กลุ่มสืบทอดการทำเรือนแพ  ถ่ายทอดความรู้ไม่ให้สูญหายไป  3.กลุ่มความเข้มแข็งของชุมชน  พัฒนาคนรุ่นใหม่ให้ดำรงวิถีชีวิตชาวแพ  4.การส่งเสริมอนุรักษ์ปลาพื้นถิ่น  เช่น  ปลาแรด  5.การแปรรูปปลา  สร้างมูลค่า  สร้างรายได้ให้ชุมชน  6.เปลี่ยนผักตบชวาให้เป็นของใช้  ทำเป็นภาชนะใส่อาหารต่างๆ  ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการลงนามความร่วมมือในวันนี้แล้ว  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนยังได้มอบงบประมาณสนับสนุนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบทจังหวัดอุทัยธานี  รวมทั้งหมด 20 พื้นที่  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตำบลที่มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล  หรือทำโครงการบ้านมั่นคง  โครงการละ  45,000 บาท  รวมทั้งหมด 900,000 บาท  โดยชุมชนส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในช่วงสถานการณ์โควิด-19  เช่น  ส่งเสริมการปลูกผัก  เกษตรอินทรีย์  เลี้ยงสัตว์  ทำปุ๋ย  ส่งเสริมอาชีพต่างๆ

นอกจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเรือนแพสะแกกรังแล้ว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ยังมีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งเมืองในเขตเทศบาลเมืองอุทัยธานีด้วย  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนแออัด  มีรายได้น้อย  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม  ไม่มีที่อยู่อาศัย  ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง  ฯลฯ  โดยจะเริ่มสำรวจข้อมูลทั้งเมืองภายในเดือนสิงหาคมนี้  ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ได้สนับสนุนการจัดทำครัวชุมชนเพื่อทำอาหารแจกจ่ายให้แก่ชาวชุมชนที่มีรายได้น้อย  ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด  เพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาปากท้องในช่วงภาวะวิกฤต  และเป็นการกระตุ้นให้ชาวชุมชนเกิดการรวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยต่อไป

สำหรับ 16 หน่วยงานที่มีการลงนามความร่วมมือ MoU. (Memorandum of Understanding)  ในวันนี้  ประกอบด้วย  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  พมจ.อุทัยธานี  เทศบาลเมืองอุทัยธานี  ปกครองอำเภอเมืองอุทัยธานี  กอ.รมน.จังหวัด  ส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น  โครงการชลประทานจังหวัดอุทัยธานี  สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด  ประชาสัมพันธ์จังหวัด   เกษตรจังหวัด  ประมงจังหวัด  สหกรณ์จังหวัด  การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด  เจ้าท่า (นครสวรรค์) และองค์การบริหารส่นจังหวัด (อบจ.)