“ดีป้า” จับมือสถาบันการศึกษา – สถานประกอบการเนรมิตประสบการณ์การทำงานจริงแก่นักศึกษา หวังสร้างกำลังคนดิจิทัลตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมของประเทศอย่างตรงจุด

ปัจจุบัน การเรียนรู้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ในห้องเรียน จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ หากนักเรียน นักศึกษา หรือผู้ที่สนใจจะสามารถหาความรู้ พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานในสาย “เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล

ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ตามที่ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ มอบหมายให้ ดีป้า เร่งสานต่อภารกิจด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากำลังคนและบุคลากรดิจิทัล ผ่านหน่วยงานภาครัฐ สถาบันเฉพาะทางของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การเอกชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน ซึ่ง ดีป้า พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวผ่าน มาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการให้ทุนการศึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (depa Digital Scholarship Fund) ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เกิดการพัฒนากำลังคนดิจิทัลอย่างตรงจุด รองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในสาขาที่ประเทศกำลังขาดแคลน ประกอบด้วย โปรแกรมเมอร์ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เมคคาทรอนิกส์ การวิเคราะห์ข้อมูล และเทคโนโลยีป้องกันด้านความปลอดภัย

“มาตรการดังกล่าวจะเปลี่ยน การศึกษาในห้องเรียน สู่ การเรียนรู้พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์จริงจากการทำงาน โดย ดีป้า จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการสร้างสรรค์ระบบการศึกษาใหม่ พร้อมรองรับความเสี่ยง และร่วมเป็นครูในการสอนน้อง ๆ นักศึกษาควบคู่กับมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยก็จะต้องปรับหลักสูตรให้ตรงตามความต้องการของภาคเอกชนอย่างตรงจุด” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

และหนึ่งในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการดังกล่าวคือ โครงการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โดย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

วุฒิชัย วิศาลคุณารองผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม ฟีโบ้ หนึ่งในอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า โครงการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมให้นักศึกษาได้ใช้ทฤษฎีที่ได้รับจากการเรียนในชั้นเรียนมาประยุกต์ใช้ในการทำงานกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ระบบการทำงานจริง พร้อมเก็บเกี่ยวความรู้และทักษะผ่านโจทย์ที่ได้รับมอบหมายจากภาคอุตสาหกรรม ก่อนส่งมอบเอาท์พุตให้สถานประกอบการได้ตรงตามความต้องการ นอกจากนี้ยังเป็นการสนองตอบนโยบายภาครัฐในการพัฒนาบุคลากรดิจิทัลในสถาบันการศึกษา ซึ่งมาตรการดังกล่าวถือเป็นส่วนช่วยสำคัญในการเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ให้กับประเทศได้อย่างตรงจุด

ด้านนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ อย่าง “เบียร์ – อัยการ สุธาพจน์” เล่าถึงประสบการณ์การทำงานจริงกับสถานประกอบการว่า นักศึกษาทั้ง 4 คนที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับประสบการณ์ควบคู่กับการพัฒนาความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลผ่านโจทย์ที่ได้รับจากการทำงานจริงจากสถานประกอบการ พร้อมค่าตอบแทน และการันตีการมีงานทำหลังสำเร็จการศึกษา ซึ่งส่วนตัวมองว่า มาตรการดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักศึกษารุ่นหลัง ทั้งในด้านประสบการณ์การทำงาน และโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานที่สนใจร่วมกับสถานประกอบการ

ส่วน บริษัท เลิศวิลัยแอนด์ซันส์ จำกัด สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับบุคลากรที่พร้อมใช้งานตรงตามสายงานที่ต้องการ พร้อมด้วยผลิตภัณฑ์จากโจทย์ที่มอบหมายแก่นักศึกษา ซึ่งสามารถนำไปต่อยอด หรือขึ้นทะเบียนนวัตกรรมก่อนดำเนินการในเชิงพาณิชย์ต่อไป

ทั้งนี้ นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ 3 คนได้ร่วมพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติเอนกประสงค์ (Multi-functional Mobility: MuM II) กับ บริษัท เลิศวิลัยแอนด์ซันส์ จำกัด เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ โดย MuM II ถูกออกแบบและพัฒนาให้รองรับการทำงานหลากหลายหน้าที่ ซึ่งสามารถปรับโมดูลได้ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน อาทิ โมดูลฆ่าเชื้อด้วยแสง UV หรือโมดูลส่งอาหารผู้ป่วยอัตโนมัติ ส่วนนักศึกษาอีก 1 คนได้ร่วมพัฒนาหุ่นยนต์หยิบของโดยใช้กล้อง 3 มิติ ซึ่งในอนาคต สถานประกอบการจะนำผลงานทั้งสองโครงการมาบูรณาการกัน เพื่อนำมาใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรมต่อไป

ดีป้า ไม่หยุดที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพกำลังคนดิจิทัลรองรับความต้องการของเทคโนโลยีสาขาต่าง ๆ ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนอัตราการเติบโตของประเทศ ซึ่งเมื่อโลกเปลี่ยน เราต้องปรับตัวให้ทันต่อบริบท และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

…………………………………………………………….