วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 กรมทรัพยากรธรณี โดยศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ในฐานะโฆษกกรม แถลงข่าวสื่อมวลชน เตรียมพร้อม “รับมือธรณีพิบัติภัยในช่วงฤดูฝน” ณ ห้องประชุม 101 อาคารกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต โฆษกกรม เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรธรณี ดำเนินการศึกษาข้อมูลธรณีพิบัติภัยดินถล่ม พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มใน 54 จังหวัด 1,084 ตำบล โดยดินถล่มในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงฝนตกหนัก บนพื้นที่ภูเขาสูงของภาคเหนือ และภาคใต้ โดยภาคเหนือ มีโอกาสเกิดดินถล่มมากในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน เนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และพายุหมุนเขตร้อน เคลื่อนผ่าน ภาคใต้มีโอกาสเกิดดินถล่ม ช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคม เนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเฉียงเหนือ มีแนวโน้มการเกิดดินถล่มน้อยกว่าภาคเหนือและภาคใต้ โดยมีโอกาสเกิดดินถล่มช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน เนื่องจากอิทธิพลของพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่าน พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากดินถล่มส่วนใหญ่เป็นพื้นที่บริเวณที่ราบเชิงเขา และชุมชนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำตามร่องเขาที่มวลดินเคลื่อนที่ผ่าน
พื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังดินถล่ม คือ พื้นที่ที่มีความลาดชันสูง โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศ จากลักษณะอากาศคาดการณ์ล่วงหน้า 2 เดือน (ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา) พบมีฝนตกชุกมากขึ้น ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน และตกชุกหนาแน่นประมาณเดือนสิงหาคม พื้นที่คาดการณ์สำหรับการติดตามและการเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยดินถล่มของกรมทรัพยากรธรณี ดังนี้
เดือนกรกฎาคม จากการคาดหมายสภาพอากาศในช่วงระยะครึ่งหลังของเดือน ได้รับอิทธิพลร่องความ กดอากาศต่ำเลื่อนกับลงมาพาดผ่านประเทศไทยตอนบนอีกครั้ง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้มีฝนตกชุกมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก คาดว่าปริมาณฝนเมื่อรวมกับบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมากกว่าค่าปกติ ซึ่งอาจทำให้บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินถล่มได้ โดยพื้นที่เฝ้าระวังธรณีพิบัติภัยดินถล่ม ได้แก่
– ภาคเหนือ ในจังหวัดน่าน เชียงราย แม่ฮ่องสอน และตาก
– ภาคกลาง ในจังหวัดกาญจนบุรี
– ภาคตะวันออก ในจังหวัดตราด จันทบุรี และสระแก้ว
– ภาคใต้ ในจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี และชุมพร
เดือนสิงหาคม จากการคาดหมายสภาพอากาศ เนื่องจากอิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำที่พาดผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงเป็นระยะ ๆ ส่งผลให้บริเวณตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกชุกหนาแน่นและมีปริมาณน้ำฝนมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินถล่มขึ้นได้ โดยพื้นที่เฝ้าระวังธรณีพิบัติภัยดินถล่ม ได้แก่
– ภาคเหนือ ในจังหวัดน่าน แพร่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และตาก
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในจังหวัดเลย หนองคาย และอุบลราชธานี
– ภาคตะวันออก ในจังหวัดจันทบุรี และตราด
– ภาคใต้ ในจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี และชุมพร
เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปี เดือนตุลาคม 2561 – กรกฎาคม 2563
– เดือนตุลาคม 2561 เกิดดินไหลจังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 1 ครั้ง และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 1 ครั้ง
– เดือนมกราคม 2562 เกิดดินไหลจังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 1 ครั้ง
– เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2562 เกิดดินไหลและดินถล่ม รวมจำนวน 8 ครั้ง ประกอบด้วยจังหวัดตาก จำนวน 3 ครั้ง จังหวัดเชียงราย เกิดดินไหล จำนวน 1 ครั้ง และจังหวัดน่าน จำนวน 4 ครั้ง
– ในเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563 เกิดหินถล่ม ดินไหลและดินถล่ม รวมจำนวน 3 ครั้ง (สตูล น่าน เชียงราย)
การเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยของกรมทรัพยากรธรณี
1) ตรวจสอบ ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศ และสิ่งบอกเหตุก่อนเกิดดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก จากเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย พร้อมจัดทำรายงานสภาพอากาศและธรณีพิบัติภัยประจำวัน พร้อมรายงานผ่านทางเว็บไซด์ ทธ. และผ่านระบบโทรสาร
2) ติดต่อประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย ทางโทรศัพท์ ข้อความสั้น (SMS) Application Line และ Face book เพื่อเตือนให้เฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยง
3) ประเมินสถานการณ์พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดดินถล่ม และออกประกาศเฝ้าระวัง
4) จัดเก็บและรวบรวมข้อมูลเหตุการณ์พิบัติภัยที่เกิดขึ้น และจากการสำรวจ ตรวจสอบพื้นที่ประสบเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย และเสนอแนวทางการจัดการ/การแก้ไขปัญหาพื้นที่ประสบเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กรมทรัพยากรธรณี มุ่งเน้นการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากธรณีพิบัติภัย การเตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ดำเนินการในช่วงระยะเวลาก่อนเกิดภัยพิบัติโดยดำเนินการ ดังนี้
– กำหนดเขตพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดดินถล่มจากการวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะธรณีวิทยาและการใช้ประโยชน์ที่ดิน และประเมินผลทางสถิติเพื่อหาความเป็นไปได้ของการเกิดดินถล่มในแต่ละพื้นที่
– กำหนดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก โดยจัดทำเป็นแผนที่เสี่ยงภัยดินถล่มระดับชุมชน ที่แสดงถึงตำแหน่งหมู่บ้านและบ้านเรือนเสี่ยงภัยที่จะได้รับผลกระทบจากดินถล่มข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย และจุดปลอดภัย เป็นต้น ครอบคลุมพื้นที่ 940 ตำบล จากพื้นที่มีโอกาสเกิดดินถล่ม 1,084 ตำบลทั่วประเทศ เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนนำไปใช้ในการวางแผนการเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยในชุมชนต่อไป
– การจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทำหน้าที่เฝ้าระวังธรณีพิบัติดินถล่มในชุมชนของตน และสนับสนุนการซักซ้อมแผนการเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยที่ร่วมกันจัดทำไว้ ปัจจุบันมีเครือข่าย 35,980 ราย จาก 51 จังหวัด
– จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ธรณีพิบัติภัยรายภาค เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการจัดการธรณีพิบัติภัยของชุมชน รวมทั้งเป็นต้นแบบขยายผลการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยสู่ชุมชนข้างเคียง
– เฝ้าระวังสถานการณ์การเกิดพิบัติภัย ผ่านศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย
– การดำเนินการช่วงหลังจากเหตุการณ์พิบัติภัย โดยเข้าตรวจสอบพื้นที่ เพื่อศึกษาถึงสาเหตุการเกิด ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ผลกระทบที่เกิดขึ้น สำหรับใช้ในการกำหนดแนวทางการฟื้นฟูพื้นที่
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย โทรศัพท์ 0 2621 9701-5
……………………………………………………………….
กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม www.dmr.go.th