“กรมเจรจาฯ” เผย FTA ดันส่งออกมังคุดไทยขยายตัวต่อเนื่อง

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผย ตลาด จีน อาเซียน และฮ่องกง ที่ไทยมี FTA ด้วย ดันส่งออก “มังคุด” ราชินีผลไม้ไทย 5 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 16 มูลค่ากว่า 290 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดระยะยาวส่งออกยังไปได้สวย แนะใช้โอกาสขยายตลาดกับประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอควบคู่กับการรักษามาตรฐาน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามการส่งออก “มังคุด” หรือราชินีแห่งผลไม้ไทย ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) พบว่าขยายตัวร้อยละ 16 จากช่วงเดียวกันของปี 2562 และมีมูลค่าส่งออกถึง 290 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้ยังอยู่ในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ก็ตาม โดยมีจีน อาเซียน และฮ่องกง เป็นตลาดส่งออกสำคัญ มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึงร้อยละ 99 ของการส่งออกทั้งหมด แบ่งเป็นการส่งออกไปจีนมูลค่า 213 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 19 ส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 65 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4 (มีเวียดนามเป็นตลาดส่งออกหลักในอาเซียน ส่วนแบ่งตลาด 94% ของการส่งออกไปอาเซียน) ส่งออกไปฮ่องกง 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 171 ซึ่งไทยมีความตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ กับทั้ง 3 ประเทศ

นางอรมน เพิ่มเติมว่า ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกมังคุดไปตลาดโลกเพิ่มขึ้น ปัจจุบันประเทศคู่เอฟทีเอของไทย 14 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมา อินเดีย ชิลี เปรู และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ามังคุดจากไทยแล้ว เหลือเพียง 4 ประเทศ ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้า ได้แก่ เกาหลีใต้ (อัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 24) กัมพูชา มาเลเซีย และลาว (อัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 5) และเมื่อเปรียบเทียบสถิติมูลค่าการส่งออกมังคุดไทยสู่ตลาดโลกในปี 2562 กับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของไทยกับอาเซียนจะมีผลบังคับใช้ พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 53,468 โดยเฉพาะจีนขยายตัวร้อยละ 125,504 เมื่อเทียบกับปี 2545 อาเซียนขยายตัวร้อยละ 100 เมื่อเทียบกับปี 2535 เป็นต้น สอดคล้องกับสถิติในปี 2562 ที่มังคุดเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกเป็นอันดับต้น โดยเฉพาะภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และส่งผลให้ไทยครองแชมป์ผู้ส่งออกมังคุดของโลกในปีเดียวกัน

“ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้นเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันต่อโรค ประกอบกับข้อได้เปรียบของผลไม้ไทยที่ได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอ จึงถือเป็นโอกาสทองที่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยจะขยายการส่งออกผลไม้ต่างๆ ของไทยไปยังต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ควบคู่กับการรักษามาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล พัฒนาคุณภาพการผลิตตามความต้องการของตลาดที่ปัจจุบันนิยมผลไม้ปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งสร้างเอกลักษณ์ด้วยการพัฒนาสร้างตราสินค้า หรือแบรนด์ของผลไม้เป็นของตนเอง
เพื่อสร้างความแตกต่างจากผลไม้ของประเทศอื่นเพื่อผลักดันให้ผลไม้ไทยครองใจผู้บริโภค” นางอรมน เสริม

ตารางมูลค่าการส่งออกมังคุดสดของไทยไปยังตลาดสำคัญ 5 อันดับแรก

ประเทศ มูลค่า

(ล้านเหรียญสหรัฐ)

อัตราการขยายตัว

(ร้อยละ)

สัดส่วน

(ร้อยละ)

2561 2562 2562 2563 2561 2562 2562 2563 2561 2562 2562 2563
(มค.-พค.) (มค.-พค.) (มค.-พค.) (มค.-พค.) (มค.-พค.) (มค.-พค.)
1. จีน 104.30 376.81 178.27 212.92 75.83 261.18 577.70 19.44 46.08 70.34 71.28 73.36
2. อาเซียน 114.16 142.47 62.99 65.32 -21.82 24.80 55.31 3.70 50.43 26.60 25.19 22.51
3. ฮ่องกง 0.80 5.29 3.73 10.12 -81.54 528.08 6070.25 171.18 0.37 0.99 1.49 3.49
4. เกาหลีใต้ 2.31 3.34 2.09 1.33 -4.36 45.06 161.47 -36.36 1.02 0.62 0.84 0.46
5. ญี่ปุ่น 0.39 0.61 0.42 0.22 -3.29 56.90 173.92 -47.27 0.17 0.11 0.17 0.08
โลก 226.39 535.68 250.09 290.22 3.32 136.62 262.22 16.05 100 100 100 100

ตารางการส่งออกสินค้ามังคุดของไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ          

คู่ค้าลำดับที่ ประเทศ มูลค่าการส่งออกสินค้ามังคุด

(ล้านเหรียญสหรัฐ)

อัตราการขยายตัว (%)
ปีก่อน FTA  มีผล 2562 2563

(มค.-พค.)

ปีก่อน FTA/2562
1 จีน ปี 2545 0.3 376.81 212.92 125,504
2 อาเซียน ปี 2535 142.47 65.32 100
3 ฮ่องกง ปี 2560 4.6 5.29 10.12 528
4 เกาหลีใต้ ปี 2552 0.1 3.34 1.33 3,244
5 ญี่ปุ่น ปี 2549 0.6 0.61 0.22 1
16 ออสเตรเลีย ปี 2547 0.3 0.17 0.01 100
17 นิวซีแลนด์ ปี 2547 0.0 0.56 0.01 87
อินเดีย ปี 2548 0.01 0 100
ชิลี ปี 2557 0 0
เปรู ปี 2553 0 0
  รวมคู่เจรจา FTA 18 ประเทศ 529.26 289.93  
  โลก ปี 2535 1.0 535.68 290.22 53,468

…………………………………………

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

9 กรกฎาคม 2563