ครม. เห็นชอบให้ กรมชลฯ เดินหน้าโครงการอ่างน้ำห้วยกรอกเคียน ฉะเชิงเทรา วงเงิน 1,880 ล้านบาทหนุนการใช้น้ำในเขตอีอีซี

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2563 ได้มีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน จังหวัดฉะเชิงเทราปีงบประมาณ 2564-67 วงเงินงบประมาณ 1,880 ล้านบาทความจุ 19.2 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยโครงการดังกล่าวที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้เห็นชอบแล้ว ตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ปี 2563-80 และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งนี้ เพื่อรองรับการพัฒนาและการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นและการขยายตัวของชุมชนทั้งการเกษตรและอุตสาหกรรมในพื้นที่ และเป็นการป้องการน้ำเค็มรุกจากแม่น้ำบางปะกงเข้ามาในพื้นที่ จากเดิมที่ต้องใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองระบม คลองสียัด ในพื้นที่ฉะเชิงเทรา และน้ำจากอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี และอ่างเก็บน้ำขุดด่านปราการชล จ.นครนายก เพื่อมาผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกง แต่ในช่วงฤดูแล้งจะมีปริมาณน้ำน้อยทำให้การผลักดันน้ำเค็มได้ไม่ดีพอ

ทั้งนี้โครงการตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อีอีซี ลุ่มน้ำคลองท่าลาด (คลองระบมและคลองสียัด) ข้อมูลการประเมินความต้องการใช้น้ำของฉะเชิงเทรา ปี 2560-2580 คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นเป็น 1,637 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากปี 60 ที่ต้องการใช้น้ำ 1,456 ล้านลบ.ม. หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 12% ปัจจุบันฉะเชิงเทรามีน้ำประมาณ 1.5 พันล้านลบ.ม.

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียนความจุ 19.2 ล้านลบ.ม. วงเงิน 1.8 พันล้าน เป็นงบค่าชดเชยที่ดิน 1.2 พันล้านและงบประมาณในการก่อสร้าง 680 ล้านบาท ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในฤดูฝน 11,000 ไร่และในฤดูแล้ง 3,000 ไร่ ปริมาณน้ำในอ่างจะแบ่งเป็นเพื่อสนับสนุนการอุปโภค บริโภคและการอุตสาหกรรมในเขตอีอีซีปีละ 3 ล้านลบ.ม.ต่อปี และเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ผลักดันน้ำเค็ม 1.3 ล้านลบ.ม.ต่อปี ทั้งนี้โครงการไม่เข้าข่ายที่จะต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นโครงการพื้นที่ชลประทานไม่ถึง 8 หมื่นไร่ ไม่ได้ผันน้ำข้ามลุ่มและไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1
………………………………………………….