อาเซียนเดินหน้าเร่งเครื่องอำนวยความสะดวกทางการค้ามุ่งลด NTBs

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนติดตามผลดำเนินการเปิดเสรีการค้าสินค้าภายใต้แผน AEC 2025 เน้นการลดและยกเลิกอุปสรรคทางการค้าที่เกิดจากมาตรการที่มิใช่ภาษี หรือ NTBs และการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายในอาเซียน เพื่อเสริมให้ผู้ประกอบการอาเซียนสามารถดำเนินธุรกิจระหว่างกันได้สะดวกและรวดเร็ว หวังเพิ่มสัดส่วนการค้าภายในภูมิภาคอาเซียนเป็น 2 เท่า ภายในปี 2568

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงผลสรุปของการประชุมคณะมนตรี เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA Council) ครั้งที่ 32 ซึ่งสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561 ว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ติดตามผลการดำเนินการด้านการค้าสินค้าของอาเซียนภายใต้แผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint 2025) และรับทราบผลการดำเนินการที่สำคัญใน 3 ด้านหลัก คือ

  1. การเปิดเสรีการค้าสินค้าของประเทศสมาชิกอาเซียน ในปี 2560 การค้ารวมของอาเซียนมีมูลค่ากว่า 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 14 และเป็นสัดส่วนการค้าระหว่างสมาชิกอาเซียนกว่าร้อยละ 23 ปัจจุบัน สินค้ากว่าร้อยละ 98.7 ของรายการทั้งหมดมีอัตราภาษีนำเข้าระหว่างประเทศสมาชิกเป็นศูนย์ และรัฐมนตรีอาเซียนได้ให้ความเห็นชอบการปรับปรุงพิกัดศุลกากรของสินค้าในบัญชีกฎเฉพาะรายสินค้าและบัญชีสินค้าสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอให้สอดคล้องกับพิกัดศุลกากรฉบับปี 2017 ซึ่งจะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ศกนี้ รวมทั้งมอบหมายให้ประเทศสมาชิกดำเนินการประเมินผลการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) เพื่อขยายสิทธิประโยชน์ที่ดีกว่าให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนโดยอัตโนมัติในกรณีที่ประเทศนอกกลุ่มได้รับสิทธิประโยชน์ดีกว่าประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน โดยให้รายงานผลภายในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนมีนาคม 2562
  2. การขจัดมาตรการที่มิใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า (Non-Tariff Barriers: NTBs) รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้มุ่งเน้นการลดและยกเลิก NTBs ระหว่างกัน ซึ่งขณะนี้ เวียดนามได้ยกเลิกการจำกัดปริมาณนำเข้าสินค้าไข่ไก่และเกลือแล้ว และอยู่ระหว่างหารือภายในประเทศเพื่อยกเลิกการจำกัดปริมาณนำเข้าของสินค้าน้ำตาล นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้กระตุ้นให้ประเทศสมาชิกหารือและเร่งรัดการพิจารณาแก้ไข NTBs อย่างจริงจัง
  3. การอำนวยความสะดวกทางการค้า ได้มีการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้

1) รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนให้การรับรองเอกสาร 2 ฉบับ คือ (1) พิธีสารฉบับที่ 2 เพื่อแก้ไขความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน เพื่อให้สามารถใช้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียนเป็นระบบเดียวกัน         (ASEAN-Wide Self-certification) ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกสินค้าที่ต้องการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ ATIGA สามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องไปขอรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจากภาครัฐ และช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในขั้นตอนการขอใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และ (2) เอกสารแนวปฏิบัติสำหรับการดำเนินการตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมาตรการที่มิใช่ภาษี ซึ่งกำหนดแนวทางการออกมาตรการที่มิใช่ภาษีในประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรมทางการค้าระหว่างกันในประเทศสมาชิก และลดผลกระทบจากการบิดเบือนทางการค้า

2) รับทราบความคืบหน้าของการเชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window: ASW) และเร่งรัดให้เชื่อมโยงระบบได้ครบ 10 ประเทศภายในปีนี้จากปัจจุบันที่เชื่อมโยงกันแค่ 5 ประเทศ (ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม) ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนของภาคธุรกิจในการยื่นเอกสารนำเข้า-ส่งออกสามารถยื่นผ่านระบบออนไลน์เพียงครั้งเดียว

3) รับทราบรายงานผลการสำรวจผลสัมฤทธิ์ของการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน โดยสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ได้จัดทำขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินแนวทางดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมาย ลดต้นทุนธุรกรรมทางการค้าภายในภูมิภาคลงร้อยละ 10 ภายในปี  2563 และเพิ่มการค้าภายในภูมิภาคเป็น 2 เท่าภายในปี  2568  ซึ่งผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่า การดำเนินการตามมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินอยู่ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก และไทยอยู่ในกลุ่มที่มีความก้าวหน้า 3 อันดับแรกของอาเซียน (รวมสิงคโปร์และมาเลเซีย) โดยไทยมีคะแนนสูงในด้านความโปร่งใสและเผยแพร่ข้อมูลกฎหมาย กฎระเบียบ และขั้นตอนต่าง ๆ ต่อสาธารณะ รวมทั้งมีกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนี้ ERIA อยู่ระหว่างการศึกษาตัวชี้วัดด้านอื่น ๆ และจะรายงานผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 2561

———————————-

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์