แผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 2 กรกฎาคม 2563

​​

วันที่ 2 กรกฎาคม 2563 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า แม้ในขณะนี้ได้เข้าสู่ฤดูฝนมาเป็นระยะเวลา 1 เดือนครึ่งแล้ว แต่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนต่างๆ ทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ พื้นที่ลุ่มรับน้ำ ตลอดจนแม่น้ำ และลำคลองในหลายๆพื้นที่ที่ยังมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ รวมถึงพื้นที่การเกษตร ซึ่งพี่น้องประชาชนได้ทำการเกษตร เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝนมาแล้วประสบปัญหาเรื่องของการขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ ดังนั้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตรและเหล่าทัพ พร้อมที่จะช่วยสนับสนุนแผนการปฏิบัติการฝนหลวงอย่างเต็มที่

สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 7 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่บางส่วนของ จ.พะเยา เพชรบูรณ์ ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี อุทัยธานี สิงห์บุรี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุดรธานี สกลนคร หนองบัวลำภู นครพนม มุกดาหาร ศรีสะเกษ พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนจำนวน 5 แห่ง อ่างเก็บน้ำห้วย
หนองโรง และอ่างเก็บน้ำห้วยโป่ง ​ด้านแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง มีจำนวน 8 จังหวัด 640 อำเภอ 359 ตำบล 3 เทศบาล 3,351 หมู่บ้าน/ชุมชน บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ 2 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ภาคกลางและภาคตะวันออก 3 จังหวัด

ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30 % ของปริมาณน้ำใช้การ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 33 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 219 แห่ง ด้านประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างบางส่วน ภาคตะวันออก ภาคเหนือตอนบน และภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน

สำหรับข้อมูลการขอรับบริการฝนหลวง ณ วันที่ 1 ก.ค. 2563 พบว่ามีผู้ขอรับบริการฝนหลวงจากทั่วทุกภูมิภาคจำนวน 870 แห่ง (58 จังหวัด 402 อำเภอ) สอดคล้องกับข้อมูลปริมาณน้ำฝนสะสมรายสัปดาห์บริเวณภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางที่มีปริมาณน้ำฝนสะสมในระดับน้อยกว่า 10 มิลลิเมตร ซึ่งทางทางกรมฝนหลวงฯ จะนำมาวางแผนและขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงให้กับพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำอย่างทั่วถึงต่อไป

ส่วนการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในวันนี้ ผลการตรวจอากาศจากสถานีเรดาร์ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง ในช่วงเช้าจึงวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง โดย 4 หน่วยปฏิบัติการ ดังนี้
​- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.เชียงใหม่ จ.ลำปาง
​- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ตาก ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ตาก จ.สุโขทัย จ.ลำปาง (ตอนล่าง) จ.กำแพงเพชร
​​- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ลพบุรี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ชัยนาท จ.อุทัยธานี​
​- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.อุดรธานี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.บึงกาฬ จ.สกลนคร

อย่างไรก็ตาม สำหรับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงอีก 8 หน่วยฯ ขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เข้าเงื่อนไขปฏิบัติการฝนหลวง จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อไป
…………………………………………………………
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
2 กรกฎาคม 2563