วิถีชีวิตชุมชน วิถีเกษตรกรรม

แต่เดิมประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ราษฎรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา รายได้ส่วนใหญ่ของประเทศมาจากการขายสินค้าประเภทเกษตร อาทิ ข้าว ยางพารา ไม้สักและพืชไร่ต่าง ๆ รวมทั้งแร่ธาตุที่มีอยู่มากในประเทศ อาทิ ดีบุกเป็นต้น ภาพพจน์ของการเป็นสังคมเกษตรกรรมโบราณได้ฝังแน่นอยู่ในจิตใจของคนรุ่นเก่ามานานหลายชั่วอายุคน และสิ่งเหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นข้อเขียน วรรณคดี และบทเรียนสอนเด็กในโรงเรียนต่าง ๆ เรื่อยมา จนเรามักพูดกันติดปากเสมอว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่ อยู่ในชนบทประกอบอาชีพเป็นชาวไร่ ชาวนา” คนที่มีอายุสี่สิบห้าสิบปีขึ้นไปส่วนมากจะยังระลึกถึงภาพพจน์เก่า ๆ นี้ได้เป็นอย่างดี บางคนก็ยังคิดว่านั่นคือความเป็นจริงในปัจจุบัน ถ้าเช่นนั้นปัจจุบันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมเกษตรกรรมของประเทศเรา และ “เกษตรกรรมแบบยั่งยืน” คืออะไรทำไม ณ วันนี้ เราจึงต้องมาพูดกันถึงเรื่อง “เกษตรกรรมแบบยั่งยืน”

“เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” จากบันทึกในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนี้คงสะท้อนถึงสภาพสังคมไทยในสมัยก่อนได้เป็นอย่างดีถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารการทำมาหากิน ความเป็นสังคมเกษตรกรรมที่มีอย่างช้านาน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะที่ราบลุ่มภาคกลาง อันเป็นที่ตั้งเมืองหลวงของประเทศมายาวนานเกือบพันปีที่มีความอุดมสมบูรณ์เปรียบได้กับอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศเท่านั้น

วิถีชีวิตของชุมชนในภูมิภาคอื่นๆ ก็ไม่แตกต่างกัน อย่างเช่น ในภาคใต้ วิถีชีวิตของชุมชนดำรงอยู่อย่างเกื้อกูลกับธรรมชาติที่อุดมสมบูรณไปด้วยทรัพยากร และความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ในแต่ละพื้นที่ปกคลุมไปด้วยป่านานาพันธุ์มีป่าต้นน้ำที่เป็นต้นกำเนิดแห่งความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศป่าไม้ท้องไร่ท้องนาที่ปลอดสารเคมีได้น้ำจากป่าหล่อเลี้ยงเกิดเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองเขียวขจี ธารน้ำจากป่าไหลเรื่อยผ่านชุมชนออกสู่ทะเล อันเป็น แหล่งกำเนิด อันอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล ทั้งพันธุ์ปลา ปะการัง ป่าชายเลน ฯลฯ กล่าวได้ว่าวิถีชีวิต การดำรงอยู่ วัฒนธรรมองค์ความรู้ ภูมิปัญญาต่างๆ ศิลปวัฒนธรรม และความเชื่อทางศาสนาของภาคใต้สอดประสานให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล

เฉกเช่นเดียวกับ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของ ชุมชนชาวอีสานซึ่งเป็นระบบนิเวศวิทยาแบบพื้นบ้านที่มีการผลิตแบบยังชีพดั้งเดิม “เฮ็ดอยู่ เฮ็ดกิน” ได้ไม่ลำบาก เพราะอาหารธรรมชาติมีเพียงพอต่อการดำรงชีพ แทบไม่ต้องพึ่งพาจากภายนอกเลย ดังคำพูดของผู้เฒ่าผู้แก่ที่กล่าวว่า “บ้านเฮา กินบ่บก จกบ่ลง” แปลความหมายได้ว่า มีความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหาร กินเท่าไรก็ไม่หมด และ ในยุ้งฉางแน่นไปด้วยข้าว ส่วนการแบ่งพื้นที่ในการทำกินเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆคือ ที่ราบลุ่มทำนา ที่หัวไร่ปลายนา และที่ป่าดงธรรมชาติ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ปัจจัยสี่ในชีวิตประจำวัน ล้วนมาจากภูมิปัญญาในการจัดการและจัดสรรคุณค่าต่างๆ จากทรัพยากรธรรมชาติแวดล้อมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสมดุล ในขณะที่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมหลายอย่างของชาวอีสานก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่ชาวอีสาน และช่วยรักษาสภาพของสังคมนี้ให้คงอยู่ อาทิการถือปฏิบัติตามฮีตสองคองสิบสี่ ที่เป็นโครงสร้างทางความคิดความเชื่อ และเป็นพลังในการหล่อหลวมผูกพันให้คนอีสานมีสำนึกแน่นแฟ้นอยู่กับสังคมเครือญาติและจำเริญรอยตามวิถีชีวิตชาวนาตามฤดูกาลของธรรมชาติในรอบปี,การเคารพนับถือผีต่างๆ เพื่อบูชาและรักษาสภาพธรรมชาติในหมู่บ้าน และประเพณีเกี่ยวกับการดำรงชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสาน เช่น การขอฝนเพื่อทำการเกษตร ฯลฯ

ซึ่งก็ไม่แตกต่างกับ ชุมชนในล้านนา แม้จะมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ไทยวน ยอง เขิน ลื้อ ไต ลัวะ ปากเกอญอม้ง เมี่ยน อาข่า ลาหู่ ลีซู ขมุ ฯลฯ แต่ก็อาศัยอยู่ร่วมกันมาช้านานบางกลุ่มตั้งถิ่นฐานมาแต่เดิม บางกลุ่มถูกกวาดต้อนเข้ามาในช่วง “เก็บผักใส่ซ้า-เก็บข้าเมือง” บางกลุ่มอพยพเข้ามาภายหลังการตั้งถิ่นฐานและทำมาหากินของชุมชนในแต่ละแห่งนี้ยังสะท้อนถึงภูมิปัญญาความรู้และประสบการณ์ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาหลายรุ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน แหล่งน้ำ และป่า ให้สมดุลและเพียงพอที่สมาชิกของชุมชนจะดำรงชีวิตอยู่ได้ ขณะเดียวกันก็ยังได้อาศัยทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้โดยเฉพาะป่าไม้เป็นแหล่งของปัจจัยสี่ ทั้งการปลูกสร้างบ้านเรือน อาหารธรรมชาติหลากหลายชนิดสมุนไพรที่นำมารักษาโรคภัยไข้เจ็บ เครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวันต่างๆ ซึ่งจากความเข้าใจและเห็นคุณค่าของธรรมชาติที่มีต่อชีวิต จึงก่อเกิดเป็นระบบความเชื่อในการใช้ประโยชน์และการดูแลรักษา อาทิ ผีขุนน้ำ ผีป่า ผีทุ่งผีนา ผีฝาย ฯลฯ

จึงกล่าวได้ว่าวิถีชีวิตของขุมชนหมู่บ้านไทยโดยทั่วไป มีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นพื้นฐาน โดยมีครอบครัวเป็นหน่วยการผลิต มีแรงงานจากสมาชิกในครอบครัว ไม่ต้องจ้าง อาศัยวัตถุดิบที่มีในชุมชนท้องถิ่น และอยู่อย่างพึ่งพิงกับธรรมชาติ โดยทั่วไปชาวบ้านจะคิดถึงการผลิตเพื่อให้สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ก่อนหากมีเหลือจากการบริโภคจึงขาย หรือแลกเปลี่ยนกันภายในชุมชนซึ่งลักษณะวิถีชีวิตแบบนี้สะท้อนให้เห็นถึง การพึ่งพาตนเองของชาวบ้านการพึ่งพิงกันเองในชุมชน และการพึ่งพิงอิงกันกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

นอกจากนี้ ในการก่อตัวรวมกันเป็นชุมชนหมู่บ้าน สิ่งที่ก่อเกิดควบคู่มาด้วยคือ การจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนระหว่างกลุ่มตนกับคนกลุ่มอื่น ๆ และระหว่างคนกับธรรมชาติรอบตัวตลอดจนระหว่างคนทั้งหลายกับสิ่งเหนือธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ได้หลอมรวมกลายเป็น “วิถีชีวิตของการอยู่ร่วมกัน” ของชุมชนหมู่บ้านไทยเป็น “ระบบคุณค่าที่ทำให้กลุ่มคนอยู่รวมกันอย่างเป็นสุขได้ไม่ว่าจะเป็นพิธีสืบชะตา ดิน น้ำ ป่า, พิธีบวชป่า, ระบบเหมืองฝาย, ความเชื่อเรื่องดอนปู่ตา, การขอฝน, การเอามือเอาแรงลงแขก ฯลฯ ซึ่งลักษณะการแสดงออกถึงระบบคุณค่าดังกล่าวนี้แฝงไปด้วย ปรัชญาการเคารพต่อธรรมชาติ และยังสะท้อนให้เห็นถึงการมีองค์ความรู้และภูมิปัญญาของตนเอง การมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ตลอดจนการมีความสามารถและสิทธิ์ในการจัดการทรัพยากรร่วมกันของชุมชน และเหนือสิ่งอื่นใด สิ่งเหล่านี้เองที่เราเรียกว่าการมี “ความสุขแบบชาวบ้าน”

แต่ภาพแห่งความสงบสุขแบบนี้ ก็ไม่สามารถคงอยู่กับชาวบ้านได้ตลอดไป เพราะในความเป็นจริง ในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเป็นทุนนิยมผูกขาดโดยรัฐ (อาทิ พระคลังสินค้าเป็นผู้ผูกขาดในการส่งออกข้าวไทย) แต่ภายหลังสนธิสัญญาเบาริ่งในปี พ.ศ. 2398 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยก็พึ่งพาระบบทุนนิยมผูกขาดโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยมา โดยที่โครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศก็ยังคงผูกขาดเช่นเดิม ซึ่งภาคเกษตรไทยก็มีสภาพผูกขาดมาโดยตลอดเช่นกัน (หมายถึงทุนผูกขาดมีอิทธิพลเหนือราคาผลผลิตทางเกษตร)ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ยังคงเป็นเป็นการผูกขาดร่วมกันของ “ทุนนิยมขุนนางไทย” ซึ่งในช่วงนี้สภาพสังคมเกษตรกรรมของชุมชนหมู่บ้านไทย

เริ่มเกิดการผลิตเฉพาะอย่าง มีการเปลี่ยนโครงสร้างสินค้าเข้าสินค้าออก คือจากเดิมสินค้าออกจำนวนน้อยแต่มากชนิด กลายเป็นสินค้าออกจำนวนมากแต่น้อยชนิด ส่วนสินค้าเข้าเพิ่มชนิดมากขึ้นเพื่อการบริโภคของคนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ลักษณะการครอบงำของระบบทุนนิยมในสังคมไทยยังคงชะงักอยู่ที่ขั้นควบคุมการแลกเปลี่ยน มิได้ควบคุมถึงการผลิตหรือเข้าไปเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตในหมู่บ้าน ฉะนั้นหมู่บ้านไทยในช่วงนี้จึงอยู่รอดได้ด้วยฐานของความอุดสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในอดีต และลักษณะของชุมชนหมู่บ้านที่มีความผูกพันภายในสูง เป็นแรงเกาะเกี่ยวให้ชุมชนยังตั้งมั่นอยู่ได้ ตอนหน้าเราจะมีพูดกันถึงเรื่องเกษตรกรรมแบบยั่งยืนที่หลากหลาย และสุดท้ายอะไรคือ “ความสุขแบบชาวบ้าน” ติดตามกันนะครับ