FSC ทางรอดยางไทย! โดย ประสาท เกศวพิทักษ์

จากสกู๊ปหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับที่กันยายน  2560 ในเรื่อง “FSC ทางรอดยางไทย..ลุยตลาดโกอินเตอร์” ที่ผู้ว่าการยางแห้ว ประเทศไทยคาดหวังให้ “ยางไทย” โกอินเตอร์ได้อย่างมั่นคงยั่งยืน

ในข่าวกล่าวถึงประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่นและหลาย ๆ ประเทศ ไม่บอกว่าประเทศอะไรบ้าง จะไม่รับซื้อไม้ยางผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพารา รวมทั้งผลผลิต…ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยาง ที่มีการจัดการสวนยางไม่ได้มาตรฐาน FSC ก่อนจะวิเคราะห์ว่าการเข้าสู่ระบบ FSC ของสวนยาง เพื่อให้ยางไทยไปรอด ตามที่ ดร.ธีรัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวไว้ จะมีการบังคับใช้มาตรฐาน FSC ในปี 2563 คงต้องมาศึกษาว่า FSC คืออะไร มาตรฐาน FC คืออะไร?

จากการบุกรุกทำลายป่าและการปลูกป่าที่ขาดการบริหารจัดการที่ถูกต้องตามมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน หลายๆ ประเทศมีความกังวล จึงมีแนวคิดในการให้มีการรับรองทางป่าไม้(Forest Certification = FC)

FC เป็นเครื่องมือหรือวิธีการใหม่ ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อวงการป่าไม้ทั่วโลก โดยการใช้การตลาดเป็นข้อกำหนดในการจูงใจให้ปรับปรุงวิธีการจัดการไม้ โดยวิธีการที่ยอมรับแพร่หลาย และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นการชักจูงให้ทำตามโดยมิใช่บังคับโดยกฎหมาย หรือกฎระเบียบต่างๆ อย่างที่เคยปฏิบัติมาในอดีต ประการสำคัญวิธีการนี้สามารถช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องกับป่าไม้หันหน้าเข้าหากัน เพื่อพัฒนาหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน

FC นี้ได้มีการพัฒนาต่อจากการประชุม UNCED (United Nation Conference on Environment and Development) ที่เมือง Rio de Janeiro ประเทศบราซิล เมื่อ 3-14 มิถุนายน พ.ศ. 2535 โดยมีการกำหนดหลักการป่าไม้ (Forest Principles) ขึ้นสำหรับเป็นแนวทางในการนำไปปฏิบัติได้ทั่วโลก

จากการประชุมการป่าไม้ของทวีปยุโรป ที่กรุงเฮลซิงกิประเทศฟินแลนด์ ในปี พ.ศ. 2536 ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดการป่าไม้แบบยั่งยืนขึ้น โดยกำหนดให้การดำเนินการต้องเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน ตลอดจนการนำสินค้าออกจากป่า ก็ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของป่าด้วย

จากแนวคิดเรื่องการจัดการป่าอย่างยั่งยืน จึงเกิดการรวมตัวขององค์กรเอกชนต่างๆ อาทิ กลุ่มอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ผู้ค้าไม้ผู้ผลิตสินค้าจากไม้ กลุ่มชนพื้นเมือง องค์กรชุมชนท้องถิ่น จัดตั้ง FSC (Forest Stewardship Council) เพื่อสนับสนุนการจัดการป่าไม้ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสังคม (Environment Economic and Social) ในปี พ.ศ. 2536 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 130 คน จาก 25 ประเทศ ให้การรับรอง สำนักงานใหญ่อยู่ที่ Oaxaca ประเทศเม็กซิโก โดยมีวัตถุประสงค์

  1. เป็นผู้กำหนดมาตรฐานการจัดการป่าไม้เพื่อการค้าสำหรับใช้กับการจัดการป่าไม้ทั่วโลก ที่มีการจัดการป่าไม้เพื่อการค้า โดยผ่านการรับรอง ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ท้องถิ่น
  2. แต่งตั้งผู้ให้การประกัน (Certifier) ออกไปทำหน้าที่ตรวจสอบและออกใบรับรอง ว่าผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่ FSC กำหนด การให้สัญลักษณ์ FSC
  3. เป็นองค์กรช่วยเหลือด้านความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการป่าไม้ โดยการให้การศึกษา ฝึกอบรม สนับสนุนช่วยเหลือองค์กรอื่นๆ วางแผนและกำหนดมาตรฐานการจัดการป่าไม้
  4. ช่วยเหลือสนับสนุนนโยบายท้องถิ่น ระดับชาติ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ป่าไม้
  5. จัดตั้งหน่วยงาน เพื่อการศึกษา ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการจัดการป่าไม้
  6. จัดหาเงินทุนที่ต้องใช้ในองค์กร เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์

ก่อนจะพิจารณาถึงผลกระทบกับการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมกับ FSC นั้น ต้องกลับมาพิจารณาถึงเจตนารมณ์ ของการจัดตั้งองค์กร FSC ก่อน จากประวัติและจุดเริ่มต้นก่อนกำเนิด FSC นั้นเป็นการประชุมของสหประชาชาติ (UNCED) ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการทำลายป่า ซึ่งจะมีจุดเน้นที่หารือ

  1. ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Diversity)
  2. การเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศ
  3. Combat Desertification

แต่วันนี้กำลังจะนำเรื่องการจัดการป่ามากีดกันสินค้ายางพารา จึงจำเป็นที่จะต้องขีดวงของคำว่า สวนยาง (Rubber Plantation) ว่าเป็นป่าหรือสวน ถ้ากลับไปดู เมื่อมีการผลักดันสวนยางพารา ที่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ปีละหลายล้านตัน เพื่อให้สวนยางพาราสามารถขายคาร์บอน (Carbon Trade) ให้กับประเทศที่ไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ ตามพิธีสารเกียวโต แต่ปรากฏว่าการตีความว่าสวนยาง ไม่ใช่ป่า แต่เป็นสวนที่มีการดำเนินการเหมือนเดิมโดยไม่มีการพัฒนา จึงไม่สามารถเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน (Carbon Sequestration) ได้

ประกอบกับทางประเทศผู้ผลิตได้มีการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนายางนานาชาติ (International Rubber Research and Development Board=IRRDB) ขึ้นเพื่อการศึกษาวิจัยพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ โดยมีคณะกรรมการ (Committee) ขึ้นดูแลทุกสาขาวิชา รวมทั้งการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในสวนยางอยู่แล้ว หากจะต้องมีการควบคุมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของสวนยาง ก็ควรเป็นสำนักงาน IRRDB มากกว่าเพราะดูแลสวนยางทุกด้านตั้งแต่พันธุ์ เขตกรม การบริหารจัดการ การใช้น้ำยาง และไม้ยาง เพื่อผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดย IRRDB ได้มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นใกล้ชิด กับองค์กรยาง อีก 2 องค์กร ได้แก่Association of Nation Rubber Producing Countries =ANRPC และ International Rubber Study Groups = IRSG

แม้ว่าไทยจะออกจากการเป็นสมาชิกของ IRSG แต่ไทยยังเป็นสมาชิกของ IRRDB และ ANRPC ซึ่งต้องเสียค่าสมาชิกปีละมากกว่า 6 ล้านบาท การจะทำหรือนำสวนยางเข้าสู่มาตรฐาน FSCจึงน่าจะมีการหารือร่วมกันระหว่างประเทศผู้ผลิตยางที่เป็นสมาชิกของ IRRDB และ ANRPC เพราะสมาชิกมากกว่า 20 ประเทศย่อมได้รับผลกระทบต่อการเข้าสู่มาตรฐาน FSC หรือไม่เข้า เพราะหากทุกประเทศเข้าระบบ FSC คงไม่ได้จะเข้าเฉพาะมาตรฐานการจัดการเท่านั้น ผลิตผลและผลิตภัณฑ์ก็จะถูกดึงเข้าสู่มาตรฐาน FSC30ซึ่งมาตรฐานนี้จริงๆ ก็เป็นมาตรฐานที่กำหนดหรือตั้งขึ้นเพื่อกีดกันผลิตภัณฑ์ไม้ยาง ผลิตภัณฑ์ไม้ และสินค้าจากป่า ซึ่งตีความว่าน้ำยางพารา ก็ต้องเข้าสู่ระบบการตรวจสอบว่า สินค้าที่ผ่านการรับรองจะต้องติดฉลากรับรองสินค้า (Labeling) มีการจัดการป่าอย่างยั่งยืน

สำหรับประเทศไทยที่มีพื้นที่ปลูกยางมากที่สุดในโลกมากกว่า 25 ล้านไร่ ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แต่ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท) มีเกษตรกรปลูกยางมาขึ้นทะเบียนแล้ว 18 ล้านไร่ มีสวนยางผ่านมาตรฐาน FSC ประมาณ50,000 ไร่ คงต้องมาพิจารณาขั้นตอนการเข้าสู่มาตรฐาน FSC หรือมาตรฐานประเทศไทย (National Standard) ที่ปฏิบัติหรือใช้กันอยู่

นายณรงค์ศักดิ์ ใจสมุทร หัวหน้ากองสวัสดิการเกษตรกร กวท. กล่าวว่า การเข้าสู่มาตรฐานสวนยางของ FSC จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาวะการดำเนินงานของประเทศที่เกื้อหนุนต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ประกอบด้วยหลักการสำคัญๆ ดังนี้

  1. การจัดการป่าไม้ต้องมีความสอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ของ FSC เช่น จะต้องไม่ละเมิดกฎหมาย ต้องเสียภาษีที่ดินให้หน่วยงานปกครองท้องถิ่น และกฎหมายอื่นๆ การยืนยันปฏิบัติตามข้อ 1. เป็นการเปิดช่องให้หน่วยงานท้องถิ่น เข้ามาเก็บภาษีด้วยใช่ไหม? เกษตรกรยอมรับเงื่อนไขแน่หรือเปล่า
  2. สวนยางจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของการถือครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน สิทธิในการจัดการในที่ดิน จะต้องมีหลักฐานที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมาย สัญญาเช่าหรือเอกสารอื่นๆ ข้อกำหนดในเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินนี้ น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวสวนยางพารามาขึ้นทะเบียนกับ กยท. เพียง 18 ล้านไร่ เท่ากับว่ามีพื้นที่ยางจำนวนมากปลูกอยู่ในป่า (บุกรุกป่า) บุกรุกพื้นที่สาธารณะแน่นอน พื้นที่สวนยางมากกว่า 5 ล้านไร่ นี้จะทำอย่างไร? และ FSC จะต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ไม่ใช่ว่ามีการดำเนินตามกรอบแล้วจะได้มาตรฐาน FSC จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรองแน่นอน
  3. การจัดการสวนยางต้องให้ความเคารพในสิทธิของชนพื้นเมืองท้องถิ่น พื้นที่ใกล้เคียงผืนป่า เช่น ศาสนสถานโรงเรียน ซึ่งต้องกระทบกับการผลิตยาง ที่อาจกระทบกับชุมชนในเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ แต่หากในอนาคตชนพื้นเมือง ชุมชนอาจมีการรียกร้องทำให้กระทบกับสวนยางได้
  4. การจัดการสวนยางจะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนตลอดจนตระหนักในสิทธิของคนงาน พิจารณาจ้างงานแก่คนในชุมชนรอบข้างก่อนจะจ้างคนงานต่างชาติ และที่สำคัญต้องจัดหาอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยให้กับคนงาน และที่สำคัญค่าจ้างแรงงานจะต้องเป็นธรรม มีสวัสดิการตามกฎหมาย
  5. การจัดการสวนยางจะต้องมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม ใช้ประโยชน์จากป่าอย่างสูงสุด ลดการสูญเสีย เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่กระทบต่อสังคม…สิ่งแวดล้อม ข้อนี้จะรวมถึงการควบคุมการกรีดยางที่มากเกินไปหรือไม่ เพราะการกรีดยางมากกว่าคำแนะนำ ก็จะทำให้สวนยางเสื่อมโทรม ไม่ยั่งยืน การตีความเรื่องการกรีดยางก็อาจสร้างปัญหาต่อการเข้าสู่ FSC ได้
  6. การจัดการสวนยางต้องมีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รักษาสมดุลทางนิเวศ ไม่ให้มีการล่าสัตว์หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี หรือใช้สารเคมีอย่างถูกต้องในข้อนี้คงปฏิบัติไม่ยาก เพราะสวนยางมีการใช้สารเคมีน้อยอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับการเกษตรอื่นๆ
  7. การจัดการสวนยางต้องมีการจัดทำแผนการบริหารจัดการกิจกรรมต่างๆ ให้ครอบคลุมเป็นลายลักษณ์อักษร และมีการปรับปรุงอยู่เสมอ โดยจะต้องมีการกำหนดเกี่ยวกับเป้าหมายในการจัดการ การตัดไม้ การลงทุน การป้องกันสภาพแวดล้อม การป้องกันพืชสัตว์หายาก มีแผนการติดตามตรวจแก้ไขผลกระทบด้านต่างๆ การปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ดูเหมือนง่าย แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกรรายย่อยคงไม่สามารถดำเนินการได้ เหมือนการปฏิบัติตามมาตรฐาน Good Agricultural Practices (GAP) ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรปลอดภัย สิ่งแวดล้อมมีผลกระทบน้อย ผลการปฏิบัติจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งเป็นนโยบายหลักของกระทรวงฯ แต่ที่ผ่านมามีผู้ผ่านมาตรฐานน้อยมาก จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่าเกษตรกรชาวสวนยาง จะทำตามข้อกำหนดนี้ได้มากน้อยเท่าใด
  8. การจัดการสวนยางต้องมีการตรวจติดตาม และประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องมีการทำอย่างสม่ำเสมอ เกี่ยวกับการผลิต การเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงของพืช สัตว์ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสังคม ตลอดจนขบวนการควบคุมการเคลื่อนย้ายสินค้าที่ได้รับการรับรองแล้วข้อกำหนดนี้ก็เช่นกัน คงปฏิบัติได้ไม่ง่ายโดยเกษตรกร เพราะผู้รับรองมาตรฐานคงไม่เชื่อง่ายๆ สุดท้ายก็ต้องประเมินโดยผู้ตรวจรับรองมาตรฐาน ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่าย ก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับสวนยางในการที่จะเข้าสู่มาตรฐาน FSC
  9. การจัดการสวนยางต้องดำรงไว้ และส่งเสริมคุณค่าของป่าอนุรักษ์ ในพื้นที่ป่าไม่ให้มีผลกระทบใดๆ และต้องแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ข้อกำหนดนี้คงปฏิบัติได้ไม่ยากเหมือนข้ออื่นๆ แต่เกษตรกรต้องมีความรู้ ความเข้าใจระบบ FSCอย่างดี
  10. การจัดการป่าไม้ต้องมีการปลูกทดแทน ในพื้นที่ๆ เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว โดยจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแนวทางในข้อ 1-9

สำหรับข้อนี้ ไม่มีปัญหาสำหรับสวนยางในไทย เพราะการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว มีเงินสนับสนุนการปลูกยางใหม่อยู่แล้วท่าน

ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า การเข้าสู่มาตรฐาน FSC กยท. ดำเนินการได้ทันที เกษตรกรไม่ต้องปฏิบัติอะไรเพิ่มมากนัก เพราะเกษตรกรปฏิบัติอยู่แล้ว การปฏิบัติคงไม่ยาก แต่การทำบันทึกสำหรับการตรวจสอบของหน่วยรับรองมาตรฐานนั้น คงไม่ง่ายเหมือน GAP ที่ผ่านมาหลาย 10 ปี ผ่านไม่ถึง 5 แสนไร่