สพฐ. จับมือกรมสุขภาพจิตเปิดตัว แอปพลิเคชั่น “HERO” (Health And Educational Reintegrating Operation) ช่วยดูแลสุขภาพจิตเด็กนักเรียนในช่วงเปิดภาคเรียนภายใต้สถานการณ์ COVID-19

วันที่ 29 มิถุนายน 2563 กรมสุขภาพจิต เปิดตัวแอปพลิเคชั่น “HERO” (Health And Educational Reintegrating Operation) โดยเป็นนวัตกรรมจากการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ รองรับวิถีชีวิตใหม่ ช่วยดูแลสุขภาพจิตเด็กนักเรียนในช่วงเปิดภาคเรียนภายใต้สถานการณ์ COVID-19

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ใหญ่เพียงเท่านั้น แต่เด็กและวัยรุ่นที่ต้องอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ไม่ได้ไปเรียน-เล่นตามวัย โดยเฉพาะหากพ่อแม่ผู้ปกครองมีความเครียดจะส่งผลต่อพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กตามไปด้วย ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศพบว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีสาเหตุจากการที่ต้องเก็บตัวอยู่บ้านกันเพิ่มขึ้น และกลุ่มเสี่ยงสำคัญคือเด็กและวัยรุ่นซึ่งยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ทั้งหมด  และมักแสดงออกเป็นปัญหาพฤติกรรม-อารมณ์-สังคม ซึ่งจะทำให้เด็กไม่สามารถเรียนหรือใช้ชีวิตตามปกติได้ กรมสุขภาพจิตจึงได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น “HERO” (Health And Educational Reintegrating Operation) ขึ้น โดยการพัฒนาแอปพลิเคชั่น ได้รับการสนับสนุนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และได้รับงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมจากยูนิเซฟ

แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เปิดเผยว่า สำหรับแอปพลิเคชั่น “HERO” (Health And Educational Reintegrating Operation) ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นแนวทางการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น ผ่านคำถาม 9 ข้อง่ายๆ (9 symptoms หรือ 9S) คัดกรองอาการของเด็ก ได้แก่ ซนเกินไป  ใจลอย รอคอยไม่ได้ หงุดหงิดง่าย ท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่อยากไปโรงเรียน ถูกเพื่อนแกล้ง แกล้งเพื่อน และไม่มีเพื่อน ซึ่งจะทำให้เกิดการ “เฝ้าระวังคัดกรอง” ช่วยค้นหาเด็กได้เร็วขึ้นโดยไม่เพิ่มภาระครู เป็นการเฝ้าระวังปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ และส่งต่อทีมสาธารณสุขผ่านแอปพลิเคชั่นได้ โดยทำการศึกษานำร่องระบบเฝ้าระวังใน 13 พื้นที่แล้วพบว่า ค้นหากลุ่มเสี่ยงพบประมาณร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับการคัดกรองที่จะพบกลุ่มเสี่ยงประมาณร้อยละ 10 ไม่เพิ่มภาระให้กับคุณครู เมื่อครูติดตามดูแลแล้วยังไม่ดีขั้น สามารถขอคำปรึกษาจากบุคลากรสาธารณสุขในทุกอำเภอผ่านแอปพลิเคชั่น โดยทางกรมสุขภาพจิตได้เตรียมความพร้อมทีมในแต่ละพื้นที่เพื่อเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตสำหรับคุณครู (HERO consultant) ทำให้โรงเรียนและโรงพยาบาลทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น เพื่อการดูแลสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตของเด็กร่วมกัน โดยขณะนี้มี HERO consultant อยู่ในทุกเขตสุขภาพ และพร้อมขยายผลให้ครบทุกอำเภอภายในปีการศึกษานี้

นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. เปิดเผยว่า นอกจากภารกิจหลักของกระทรวงศึกษาธิการ คือ การจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมและพัฒนานักเรียนครอบคลุมทั้งทักษะวิชาการ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต เพื่อให้นักเรียนได้ค้นพบตนเองและได้รับการพัฒนาตามความสนใจและความถนัดแล้ว จากสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 พบว่า มีการรายงานข้อมูลความต้องการการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนในช่วงวัยเรียนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการทำงานร่วมกับกรมสุขภาพจิตในหลายมิติ ซึ่งแอปพลิเคชั่น “HERO” (Health And Educational Reintegrating Operation) นี้ ดำเนินการขึ้นมาเพื่อช่วยดูแลสุขภาพจิตของเด็กนักเรียนได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นในการสังเกต เฝ้าระวังและคัดกรองเด็กในชั้นเรียน ซึ่งหน้าที่สำคัญของแอพพลิเคชั่น คือ การเชื่อมโยงการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนระหว่างคุณครูกับหมอ ซึ่งยังไม่จำเป็นต้องนำนักเรียนไปโรงพยาบาล ช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อต่างๆ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียน โดยในปีการศึกษา 2563 นี้ สพฐ. ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแอปพลิเคชั่น HERO นี้ เพื่อลดภาระคุณครูในการกรอกข้อมูลและประมวลผลภาพรวมเพื่อดูแลส่งเสริมสุขภาพจิตของนักเรียน โดยประวัติของนักเรียนทุกคนจะถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัยในระบบคลาวด์ เพื่อให้คุณครูได้ส่งต่อถึงทีมจิตแพทย์และ HERO consultant ครอบคลุมทั้งประเทศ

โดยในวันนี้ยังมีการลงนามความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ นอกจากการนำเสนอแอปพลิเคชั่น “HERO”  ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ สพฐ. มีแผนการดำเนินงานสุขภาพจิตในโรงเรียนแบบบูรณาการ ควบคู่กับการจัดกิจกรรมแนะแนวอีกด้วย โดยในปีการศึกษา 2563 นี้ได้มีการจัดตั้งศูนย์แนะแนวประจำจังหวัดและศูนย์แนะแนวประจำเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 260 ศูนย์ และมีนักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อช่วยกันดูแลส่งเสริมให้นักเรียนมีสุขภาพจิตที่ดีอันเป็นพื้นฐานสำคัญการเรียนรู้ ที่จะเป็นการต้อนรับการกลับมาเปิดเทอมให้กับนักเรียนแบบ “Back to HEALTHY School” เพื่อดูแลนักเรียนให้มีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจภายใต้สถานการณ์ COVID-19 เพราะถึงการใช้ชีวิตจะต้องเปลี่ยนไป แต่การส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กไทยต้องแข็งแรง

……………………………………………………………………………