ไทย – จีน ชูธงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ผนึกความร่วมมือรอบด้าน ดันเป้าการค้า 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ไทย-จีน ประกาศความสำเร็จการประชุม JC เศรษฐกิจไทย – จีน ระดับรองนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 6 เห็นพ้องยกระดับความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ตั้งเป้าการค้า 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2564 พร้อมลงนามเอกสารสำคัญ 6 ฉบับ สานความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุม JC เศรษฐกิจไทย-จีน ครั้งที่ 6 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ว่าทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้ยกระดับและกระชับความสัมพันธ์ของการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ โดยมอบคณะทำงานร่วมไทย-จีน ด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไปหารือถึงการยกระดับความร่วมมือและกลไกที่มีอยู่ในปัจจุบันให้กว้างและครอบคลุมในประเด็นต่างๆ ของทุกหน่วยงานมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะให้มีการลงนามกรอบความร่วมมือที่ยกระดับนี้ในอนาคตอันใกล้ พร้อมกันนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำถึงการผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ทั้งการค้า การลงทุน การเกษตร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ การท่องเที่ยว การเงิน ดิจิทัล รวมถึงความเชื่อมโยงด้านยุทธศาสตร์ และการสอดประสานด้านนโยบายที่ไทยกำลังมุ่งสู่การเป็น Thailand 4.0 กับ “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน ที่สามารถเกื้อกูลและสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันได้

ทั้งนี้ จากการปฏิรูปเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งสองฝ่ายจึงเล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการขยายการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน จึงเห็นพ้องการตั้งเป้าหมายการค้าที่ 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2564 จากปัจจุบันอยู่ที่ 73,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมุ่งผลสำเร็จผ่านการส่งเสริมความร่วมมือในหลากหลายสาขาศักยภาพ อาทิ 1) การค้าและการลงทุน สองฝ่ายตกลงที่จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการค้าอย่างไร้อุปสรรค ซึ่งมีระดับอธิบดีของทั้งสองฝ่ายเป็นประธาน เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน ในส่วนของการลงทุนจะร่วมมือลงทุนในสาขา เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมใหม่ของไทยและนโยบายอุตสาหกรรมของจีน 2) การค้าสินค้าเกษตร ให้เร่งดำเนินการความร่วมมือในสินค้าเป้าหมาย โดยเฉพาะข้าวและยางพารา 3) ทรัพย์สินทางปัญญา ส่งเสริมความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล บุคคลากร และผู้เชี่ยวชาญระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ คุ้มครอง บังคับใช้กฎหมาย และใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการจดทะเบียนและคุ้มครองสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) 4) การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน เชิญนักลงทุนจีนเข้าร่วมประมูลโครงการสำคัญต่างๆ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงสำหรับท่าอากาศยาน การขยายสนามบินอู่ตะเภา และโครงการก่อสร้างอื่นๆ ภายใต้ EEC 5) ความเชื่อมโยงทางดิจิทัล ผลักดันความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์/ AI/ Big Data/ IOT และการลงทุนในดิจิทัลพาร์คของไทย 6) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้กับการเกษตร 7) การท่องเที่ยว สองฝ่ายยินดีที่ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทย-จีน มีความคืบหน้า ส่งผลให้การท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่ายบรรลุเป้าหมายนักท่องเที่ยวรวมของสองประเทศ ในปี 2017 จำนวน 10 ล้านคน 8) การเงิน ส่งเสริมการใช้เงินตราสกุลหยวนจีนและเงินบาทไทยสำหรับการทำธุรกรรมระหว่างกัน 9) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนบุคลากรและเพิ่มศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ร่วมกัน ผ่านโครงการฝึกอบรมและการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และ 10) ความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น/ระดับอนุภูมิภาค ส่งเสริมการจัดกิจกรรมภายใต้กรอบความร่วมมือไทย – กว่างซี ไทย – กวางตุ้ง ไทย – ยูนนาน และไทย – ฉงชิ่ง

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในเอกสารรวม 6 ฉบับ ได้แก่ 1) เอกสารผลลัพธ์การประชุม JC เศรษฐกิจไทย-จีน ครั้งที่ 6 แสดงเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายที่มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน 2) MOU จัดตั้งคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการค้าอย่างไร้อุปสรรคระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยกับจีน เพื่อประสานการแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน 3) พิธีสารหลักเกณฑ์การตรวจสอบ การกักกันและสุขอนามัย ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนไทยสามารถส่งออกสินค้าสัตว์ปีกไปยังจีนได้มากขึ้น 4) MOU ส่งเสริมการลงทุนระหว่างไทยและจีน ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์การลงทุนระหว่างกัน 5) MOU ระหว่าง EEC กับกระทรวงพาณิชย์จีน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อเชิญชวนนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC และ 6) MOU ความร่วมมือด้านอวกาศ เช่น โครงการส่งนักวิจัยไทยขึ้นไปวิจัยและทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติเทียนกง การพัฒนาบุคลากรและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศร่วมกัน รวมทั้งการนำเทคโนโลยีดาวเทียมของจีนมาใช้ในการพัฒนาด้านการเกษตรของไทย

นอกจากนี้ การเดินทางเยือนประเทศไทยของมนตรีแห่งรัฐของจีน (นายหวัง หย่ง) ในครั้งนี้ ยังได้นำคณะผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญหลายแห่งของจีนเข้าร่วมการประชุมฯ เพื่อร่วมรับฟังแนวทางการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับไทย ซึ่งเป็นการเน้นย้ำบทบาทของไทย ในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาคอาเซียน

ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยจีนเป็นทั้งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ในขณะที่ไทยเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 15 และเป็นตลาดนำเข้าลำดับที่ 10 ของจีน ในปี 2560 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 73,670.43 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 11.9 และในช่วงเดือนแรกของปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 45,710.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.6 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ และส่วนประกอบ/อุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น

————————————–

กระทรวงพาณิชย์