กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมจัดการประชุม United Nations Virtual Forum on Responsible Business and Human Rights

วันอังคารที่ 9 มิถุนายน 2563 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNWG) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) จัดการประชุม United Nations Virtual Forum on Responsible Business and Human Rights ภายใต้หัวข้อ “New Challenges. New Approaches.” ระหว่างวันที่ 9 -12 มิถุนายน 2563 ทางช่องทาง UN Webinar สำหรับการประชุมในครั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชนภายใต้วิกฤตโควิด-19 ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ประกอบด้วยผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จำนวนประมาณ 1,000 คน

สำหรับการประชุมฯ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มอบหมายให้นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “Future and Present of National Action Plans in Asia through the Eyes of Four Business and Human Rights Champion” ทั้งนี้ ผอ. กสป. ได้กล่าวถึงพัฒนาการในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2565) ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งในหน่วยงานภาครัฐ (ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค) ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และข้อท้าทายในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ในช่วงโควิด-19

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ชื่นชมการดำเนินงานของประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในเอเชีย และได้ให้ความสนใจสอบถามในหลายประเด็น เช่น การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ความเป็นไปได้ในการจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับ Anti-SLAPP การส่งเสริมบทบาทรัฐวิสาหกิจในฐานะต้นแบบสำหรับภาคธุรกิจ การกำหนดความคาดหวังของภาครัฐต่อภาคธุรกิจ เป็นต้น

สำหรับการประชุมฯ มีกำหนดจัดขึ้นต่อเนื่องทุกวันจนถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2563 โดยเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประเทศต่างๆ ทั้งด้านพัฒนาการ และข้อท้าทายในประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเพื่อให้ทุกคนนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของแต่ละประเทศต่อไป

…………………………………………………………………………