กรมอนามัยคุมเข้มช่องทางออนไลน์ห้ามโฆษณานมผง ชี้ ให้แสดงเฉพาะรูปสินค้าและราคาเท่านั้น

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข คุมเข้ม การขายนมผงผ่านช่องทางออนไลน์ ห้ามโฆษณา ลดแลก แจก แถม สามารถแสดงรูปสินค้า และราคาได้เท่านั้น หากพบเรื่องการกระทำผิดสามารถแจ้งได้ที่  ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรมอนามัย 02 590 4000 หรือ 02 590 4437

วันนี้ (14 สิงหาคม 2561) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษก กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมห้างหุ้นส่วนจำกัด ซุปเปอร์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ว่า กรมอนามัยและหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้ผลักดันพระพระราชบัญญัติควบคุม การส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 ให้มีผลบังคับใช้ โดยมีเป้าหมายและเจตนารมณ์สำคัญคือ เพื่อปกป้องผู้บริโภคโดยเฉพาะแม่และครอบครัวให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหารทารกและเด็กเล็ก ผ่านการควบคุมวิธีการส่งเสริมการตลาดให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้กรมอนามัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการรับทราบมาโดยตลอด จากตรวจเยี่ยมห้างสรรพสินค้าและร้านค้าในหลายจังหวัด พบว่าห้างสรรพสินค้า และร้านค้า ได้มีการปรับตัวและปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม การขายนมผงในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่ในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าเพียงเท่านั้น แต่มีบริการทางช่องทางออนไลน์อย่างแพร่หลาย ถือเป็นทางเลือกที่สะดวกและรวดเร็ว  ทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และกรมอนามัยจำเป็นต้องติดตามและคุมเข้มช่องทางการขายออนไลน์อย่างต่อเนื่องด้วย เพราะถึงแม้ว่าการขายนมผงในช่องทางดังกล่าว จะไม่มีหน้าร้าน แต่เจ้าของสินค้าหรือผู้ขายก็ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัด

“ร้านค้าและช่องทางจำหน่ายทางออนไลน์ สามารถจำหน่ายอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กได้ตามปกติ แต่ผู้ประกอบการมีข้อควรระวังที่สำคัญคือ การจำหน่ายต้องไม่มีการโฆษณาและส่งเสริมการตลาด หมายความว่าจะสามารถแสดงรูปสินค้าและราคาได้เท่านั้น ห้ามแสดงวิธีการใดๆ ที่ทำให้ทราบว่ามีการ ลดราคาจากราคาปกติ เช่น การแสดงป้ายราคาเดิมคู่กับราคาใหม่ หรือการแสดงสัดส่วนร้อยละของราคาที่ถูกลง  ห้ามมีกิจกรรมใดๆที่เป็นการให้สิทธิที่จะได้รับส่วนลด การขายพ่วง การแลกเปลี่ยนหรือให้ของรางวัลของขวัญอื่นๆ รวมทั้งห้ามมีข้อความใดๆที่สนับสนุนหรือส่งเสริมให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นอกจากนี้ ยังห้ามการแจกตัวอย่างอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม หากพบเรื่องการกระทำผิดสามารถแจ้งได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรมอนามัย 02 590 4000 หรือ 02 590 4437 ทั้งนี้ กรมอนามัยได้ลงพื้นที่ตรวจห้างหุ้นส่วนจำกัด ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ และร้านค้าย่อยในอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาสยังไม่พบผู้ที่ละเมิดข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

 

ทางด้านนายแพทย์บุญแสง  บุญอำนวยกิจ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา กล่าวว่า จังหวัดนราธิวาสให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยข้อมูลสถานการณ์ของจังหวัดนราธิวาสย้อนหลัง 3 ปีในช่วง 2558-2560 พบว่ามีทารกกว่าร้อยละ 60 ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ซึ่งช่วงวัยทารกและเด็กเล็กเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุด จำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่ดีและเหมาะสมที่สุด โดยทารกแรกเกิดถึงอายุ 6 เดือน ควรกินนมแม่อย่างเดียว และกินนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยไปจนถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น ส่วนอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กที่นำมาใช้ทดแทนนมแม่ควรใช้ในกรณีจำเป็นและ มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ