นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ผุดโปรเจคสร้าง “แลนด์มาร์ค” พัฒนาตามผังเมืองรวมจังหวัดบึงกาฬ

วันที่ 5 มิถุนายน 2563 นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) พร้อมคณะทำงาน ลงพื้นที่เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการพัฒนาจังหวัดบึงกาฬ พร้อมลงสำรวจพื้นที่ในการเตรียมก่อสร้าง “แลนด์มาร์ค” ตามโครงการพัฒนาตามผังเมืองรวมจังหวัดบึงกาฬ บริเวณริมถนนข้าวเม่า ตำบลวิศิษฐ์ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ โดยมี นายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ นายทวีเกียรติ ศรีสกุลเมฆี สถาปนิกใหญ่กรมโยธาธิการและผังเมือง นายอนุชา เจริญพันธ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดบึงกาฬ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และประชาชน ร่วมต้อนรับ และนายวิษณุ อยู่ดี ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม กรมโยธาธิการและผังเมือง บรรยายสรุปโครงการ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) กล่าวว่า จังหวัดบึงกาฬเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเล็งเห็นโอกาส ในการพัฒนาจังหวัดบึงกาฬให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ และเป็นแหล่งการค้าการลงทุนที่เชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคอินโดจีน จึงได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ออกแบบก่อสร้าง “แลนด์มาร์ค” ของจังหวัดบึงกาฬ บนพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ บริเวณริมถนนข้าวเม่า ตำบลวิศิษฐ์ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ โดยมีกรอบแนวคิดในการออกแบบ คือ

1. สร้างอัตลักษณ์ของจังหวัดบึงกาฬ ความเป็นพี่น้อง ไทย–ลาว (LANDMARK) โดยใช้ปฏิมากรรมเป็นตัวแทนที่แสดงถึงภูมิปัญญาดั้งเดิมสู่รูปแบบอัตลักษณ์ที่ทันสมัย

2. รักษาระบบนิเวศของพื้นที่เดิม (PARK) ให้มนุษย์และธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลและสามารถเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

3. สร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ (LAKE) บึงและสวนสาธารณะให้กับเทศบาลเมืองบึงกาฬ เพื่อระบบสาธารณูปโภคที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน 4. สร้างพื้นที่เชิงพานิชย์เพื่อเศรษฐกิจชุมชน (ECONOMIC AREA) เช่น พื้นที่เช่า (ตลาดคนเดิน ลานคนเมือง) เพื่อหารายได้ไว้ใช้ในการบำรุงรักษาพื้นที่สวนสาธารณะและสร้างรายได้ให้คนในชุมชน 5. ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน เขื่อนป้องกันตลิ่ง โดยคาดว่าจะเริ่มโครงการของบประมาณก่อสร้างประมาณปี 2565

นายทวีเกียรติ ศรีสกุลเมฆี สถาปนิกใหญ่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ออกแบบก่อสร้าง “แลนด์มาร์ค” ของจังหวัดบึงกาฬ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาออกแบบโครงการเบื้องต้น ซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินการออกแบบ ประกอบด้วย 1. แลนด์มาร์คของจังหวัด ซึ่งเป็นลานพลาซ่าขนาดใหญ่ เชื่อมโยงแนวแกนของเมืองมุ่งสู่พื้นที่ริมแม่น้ำโขง 2. สวนสาธารณะขนาดใหญ่ของเมืองบึงกาฬ ประกอบด้วย สถานที่ออกกำลังกาย ลู่วิ่ง และทางจักรยาน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ให้กับเมือง 3. บึงน้ำขนาดใหญ่ ใช้ประโยชน์ในการกักเก็บน้ำ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวจังหวัดบึงกาฬ และ 4. โซนเศรษฐกิจชุมชน ประกอบด้วย ลานคนเมือง ตลาดถนนคนเดินพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรม ค้าขาย ให้กับชุมชน เพื่อสร้างรายได้ ให้กับคนในท้องถิ่น

ทั้งนี้เมื่อการก่อสร้าง “แลนด์มาร์ค” ตามโครงการพัฒนาตามผังเมืองรวมจังหวัดบึงกาฬ แล้วเสร็จ คาดว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับจังหวัดบึงกาฬ ภาคอีสานตอนบน กับประชาชนในประเทศ และอาจจะทำให้จังหวัดบึงกาฬ เป็นเมืองต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย ได้นำไปเป็นตัวอย่างในการพัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่อาศัยอย่างยั่งยืนตลอดไป

…………………………………………