อว. ทำ MOU กับ 19 มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตรเพิ่มทักษะรองรับงานหลังวิกฤต COVID-19 ครอบคลุม 9 ทักษะใน 12 สาขาอุตสาหกรรม นำร่องใน 8 กลุ่มสาขาอาชีพ

อว. ทำ MOU กับ 19 มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตรเพิ่มทักษะรองรับงานหลังวิกฤต COVID-19 ครอบคลุม 9 ทักษะใน 12 สาขาอุตสาหกรรม นำร่องใน 8 กลุ่มสาขาอาชีพ ด้วยงบประมาณ  14,000,000 บาท คาดจะพัฒนาได้กว่า 3,000 คน ในปี 63

1 มิถุนายน 2563 : ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการประชุมเพื่อลงนามความร่วมมือ ตามโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Reskill/ Upskill/ Newskill) ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 19 แห่ง ในการจัดหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non degree) ที่ผ่านการคัดเลือกจาก อว. ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร อาคารอุดมศึกษา 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ถนนศรีอยุธยา โดยมี  รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต  ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา คุณสัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานกรรมการบริหารโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศฯ ผู้บริหาร สป.อว และผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมงานการประชุมและร่วมงาน ออนไลน์ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของเครือข่าย UniNet เป็นจำนวนกว่า 100 คน

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า อว. มีหน้าที่หลักในการพัฒนากำลังคนของประเทศ ดังนั้น อว. จึงต้องเร่งเตรียมความพร้อมให้คนไทยเพื่อรองรับการทำงานในอนาคตหลังวิกฤต COVID-19 ที่จะส่งผลกระทบถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวิถีการดำเนินชีวิตคน ด้วยการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (รูปแบบ Reskill / Upskill / Newskill) เพื่อรองรับงานใหม่ๆ ในรูปแบบใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะเริ่มจัดอบรมตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจะครอบคลุม 9 ทักษะใน 12 สาขาอุตสาหกรรม 8 กลุ่มสาขาวิชาชีพ ได้แก่ 1) Smart Innovative Entrepreneur 2) Smart Farming 3) Care Giver 4) Smart Tourism 5) Data Science 6) Creative content 7) Food for the future และ 8) Robotic/AI

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษานำร่องในโครงการที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 19 แห่งนั้น มีมหาวิทยาลัยของรัฐ 17 แห่ง ได้แก่ ม.เกษตรศาสตร์ ม.มหิดล ม.ธรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร  ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ส.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ส.พัฒนบริหารศาสตร์ ม.บูรพา ม.ขอนแก่น ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.เชียงใหม่ ม.แม่โจ้  ม.สงขลานครินทร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตนครราชสีมา มรภ.ราชภัฏราชนครินทร์ ม.สวนดุสิต และมี ม.เอกชนนำร่อง 2 แห่ง คือ ม.ศรีปทุม และ ม.หอการค้าไทย โดยโครงการฝึกอบรมที่จะจัดได้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากกรรมการฯ ของ อว. แล้ว ในหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non degree) รวม 30 หลักสูตร จะเน้นเป็นหลักสูตรเพิ่มทักษะรองรับงานหลังวิกฤต COVID-19 ซึ่งสถาบันอุดมศึกษานำร่องจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขภายใต้คุณภาพมาตรฐานตามกฏหมายและเข้าสู่กระบวนการประเมินผลโครงการเพื่อความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ โดย สป.อว.จะสนับสนุนงบประมาณรวมทั้งสิ้น 14,000,000 บาท ซึ่งคาดจะพัฒนาคนได้กว่า 3,000 คน ภายในปี 2563

ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า โครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Reskill/ Upskill/ Newskill) เพื่อการมีงานทำและเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานในอนาคตหลังวิกฤตการระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาและยกระดับศักยภาพคนไทยให้พร้อมทำงานในอนาคตหลังสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายของโครงการ จึงครอบคลุมทั้งผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด แรงงานคืนถิ่น และกลุ่มกำลังคน ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการที่จำเป็นต้องยกระดับทักษะชั้นสูงให้สอดคล้องกับการทำงานในโลกอนาคต ซึ่งในระยะแรกสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เชิญชวนสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชนในสังกัด จำนวน 24 สถาบัน มาร่วมพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม (Non Degree) เพื่อ Reskill/ Upskill/ Newskill ให้กับกลุ่มเป้าหมาย ครอบคลุมหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศอย่างเร่งด่วน ใน 8 กลุ่มทักษะอาชีพ ได้แก่ 1) Smart Innovative Entrepreneur  2) Smart Farming  3) Care Giver  4) Smart Tourism  5) Data Science  6) Creative content 7) Food for the future และ 8) Robotic/AI ซึ่งได้รับการตอบรับจากสถาบันอุดมศึกษาส่งหลักสูตรเข้ามามากกว่า 400 หลักสูตร คณะกรรมการบริหารโครงการฯ ได้พิจารณาคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ประกอบด้วย 1) หลักสูตรที่เสนอต้องตรงกับความเชี่ยวของสถาบันอุดมศึกษา 2) สามารถระบุความต้องการและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและ ผูกโยงกับการได้งานทำ และการทำงานที่มีคุณภาพ 3) หลักสูตรสามารถระบุทักษะที่มีมาตรฐานพร้อมวิธีวัดและประเมินผล 4) แต่ละหลักสูตรต้องมีผู้เข้ารับการอบรม ไม่น้อยกว่า 30 คน 5) วิทยากร มีคุณวุฒิและประสบการณ์เพียงพอในการถ่ายทอดความรู้ 6) มีอุปกรณ์ เครื่องมือพื้นฐานเพียงพอต่อการจัดอบรวม และ 7) มีการประเมินผลเพื่อตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานทั้งก่อนและหลังการอบรม ทั้งนี้ มีหลักสูตรที่ผ่านการพิจารณาจำนวน 30 หลักสูตร 19 สถาบัน  ซึ่งหลักสูตรส่วนใหญ่เป็นการเรียนฟรีที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และมีเพียงบางหลักสูตรที่เก็บค่าใช้จ่ายซึ่งจะไม่เกิน 1,000 บาท โดยจะเริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน 2563 เป็นต้นไป นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารโครงการฯ จะจัดให้มีกระบวนการ POST AUDIT เพื่อการรับรองหลักสูตร ซึ่งหลักสูตรที่ผ่านการรับรองจะได้รับการส่งเสริมให้สามารถสะสมหน่วยกิตเพื่อรับปริญญา (Degree) ได้ต่อไปเพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทย

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ศรีอยุธยา)  โทรศัพท์ 0-2039-5612 โทรสาร 0-2039-5664


สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (ภารกิจด้านการอุดมศึกษา)
facebook.com/opsMHSRI/ โทร. 02 039 5606 – 9