สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : อัญชัน-ดาวเรือง ป้องกันจอประสาทตาเสื่อม

จากการเก็บข้อมูลผู้ป่วย ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร 85% ของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพตา ดีขึ้น หลังใช้ตำรับอัญชัน-ดาวเรือง ‘อัญชัน-ดาวเรือง’ เป็นตำรับสมุนไพรที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยบำรุงดวงตา แก้ปัญหาการมองเห็น เช่น ตามัว มองไม่ชัด ตาฝ้าฟาง หรือตามแห้ง มองเห็นเป็นใยแมงมุมจากปัญหาจอประสาทตาเสื่อม จากการเก็บข้อมูลพบว่า ผลการใช้สมุนไพรอัญชัน-ดาวเรืองในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตา 60 ราย ที่มีปัญหา ได้แก่ จอประสาทตาเสื่อม โรคต้อกระจก โรคต้อหิน ภาวะตาแห้ง/ตาแฉะ/ระคายเคืองตา เป็นต้น รวมถึงใช้เพื่อบำรุงดวงตา

พบว่า85% มีอาการดีขึ้น ได้แก่ การมองเห็นชัดเจนขึ้น ตาพร่ามัวลดลง ปัญหาการมองเห็นวุ้นลอยในตา/มองเห็นหยากใย่ ตาแฉะ ตาแห้ง น้ำตาไหลบ่อย ดีขึ้น และไม่พบอาการข้างเคียงจากการรับประทานยาสมุนไพรตำรับนี้

ดอกอัญชัน

โบราณนิยมไว้เขียนคิ้วกับขยี้ทาหัวให้เด็กเกิดใหม่ ทำให้คิ้วและผมดกดำ และคั้นน้ำเอาไปทำขนมให้สีม่วง-น้ำเงิน หรือจะนำมาต้มน้ำกินแก้ร้อนในได้  ตำรายาไทย ใช้อัญชันมาขยี้ทาคิ้ว หมักผม ช่วยให้ผมดกดำ นำมาต้มกินเป็นประจำ ช่วยบำรุงสมอง บำรุงสายตา แก้อาการผิดปกติของเลือด ลม และเสมหะ แก้เบาหวานขึ้นตา แก้ฟกบวม ดอกอัญชันมีสารแอนโทรไซยานิน ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของดวงตา กระตุ้นการไหลเวียนเลือดมายังดวงตา เพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็น

ดอกดาวเรือง

คนไทยสมัยก่อนนิยมปลูกไว้หน้าบ้านเอาไว้บูชาพระ  ภาคใต้ กินเพื่อบำรุงร่างกาย ทำให้เจริญอาหาร โดยนำยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อนที่ยังตูมอยู่ มาจิ้มน้ำบูดูหรือน้ำพริกกิน หมอยาไทยใหญ่ใช้ดอกดาวเรืองต้มกินบำรุงตา ตำรายาไทย มีการนำกลีบดอกดาวเรืองมาต้มน้ำกิน หรือชงในน้ำร้อนจัด หรือนำมาปรุงกับตับไก่กินเป็นอาหาร เพื่อบำรุงสายตา นอกจากนี้ ยังนำมาตำผสมกับฟ้าทะลายโจร หรือขมิ้น พอกแก้ปวด อักเสบ รักษาแผลฝีหนอง ดาวเรืองมีสาร ลูทีน และ ซีแซนทีน ช่วยดูดซับแสงสีฟ้า และแสงยูวี ที่จอประสาทตา ลดความเสี่ยงการเกิดต้อกระจกได้

วิธีการทำ

  1. ดอกอัญชัน ตากแห้ง 1 ช้อนชา
  2. ดาวเรือง ตากแห้ง 1 ช้อนชา
  3. ใส่แก้ว เติมน้ำร้อน แช่ 15 นาที (หรือนำสมุนไพรใส่ผ้าขาวบางแช่น้ำร้อน)
  4. ดื่มวันละ 1-2 ครั้ง เช้า เย็น ก่อนหรือหลังอาหาร ประมาณ 15 นาที

ข้อควรระวัง

  • ควรระวังการใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาฟาริน และแอสไพริน เนื่องจากอัญชันมีฤทธิ์กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต จึงอาจเสริมฤทธิ์ของยาได้
  • ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีการทำงานของไต ที่ผิดปกติ
  • ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์
  • ไม่ควรใช้แบบสด เนื่องจากยางของสมุนไพร อาจทำให้เกิดการแพ้ได้
  • ควรระวังในผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้

ไม่อยากมีปัญหาดวงตา ต้องเลี่ยง 8 ปัจจัยนี้
1. การเผชิญแสงแดด: รังสียูวีจากแสงแดดคือตัวการทำลายเซลล์ที่จอประสาทตา
2. การจ้องหน้าจอ: ไม่ว่าจะเป็นการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือจอโทรศัพท์ รังสียูวีจากหน้าจอมีผลทำลายเซลล์ประสาทตา และการใช้สายตาเป็นเวลานานทำให้กล้ามเนื้อรอบดวงตาล้าได้
3. การสูบบุหรี่: มีผลต่อการไหลเวียนเลือด ทำให้ดวงตาขาดออกซิเจนและสารอาหาร
4. การรับประทานอาหารไม่มีประโยชน์: เช่น ฟาสต์ฟู้ด ทำให้ร่างกายขาดวิตามินจากผักและผลไม้ เพื่อไปซ่อมแซมและดูแลดวงตา
5. การดื่มน้ำน้อย: มีผลทำให้ดวงตาขาดความชุ่มชื้น เกิดตาแห้งได้ง่าย
6. การบาดเจ็บของดวงตา: เช่น อุบัติเหตุหรือสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้เกิดการระคายเคืองตา เช่น ฝุ่นผง สารเคมี หรือแม้กระทั่งการขยี้ตา
7. การละเลยสุขภาพ: ผู้ที่ป่วยด้วยโรคที่มีปัญหาการไหลเวียนโลหิต เช่น เบาหวาน ไขมัน มีผลต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงยังบริเวณดวงตา ทำให้ทำงานไม่ดีและมีปัญหาต่อตาดวงตาได้
8. การพักผ่อนไม่เพียงพอ : การนอนหลับจะทำให้ได้พักผ่อนการใช้งานของดวงตา ป้องกันอาการตาล้า ตาแห้ง ตาพร่ามัวได้

ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร