สธ.พัฒนาศักยภาพบุคลากร เพิ่มประสิทธิภาพบริการประชาชน

กระทรวงสาธารณสุข พัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ขับเคลื่อนแผนพัฒนาระบบบริการและศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์สาขาต่าง ๆ พร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มความสะดวกการเข้าถึงบริการ ลดรอคอย ลดแออัด ประชาชนได้รับการรักษาใกล้บ้านภายในเขตสุขภาพ

นายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายในการประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ประจำปี 2561 แก่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลาง ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขและสาธารณสุขนิเทศก์  12 เขตสุขภาพ  ผู้บริหาร แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศกว่า 2,000 คน ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน พัทยา จังหวัดชลบุรี

นายแพทย์เจษฎากล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ให้บริการหลักในระบบบริการสุขภาพ ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถด้านการแพทย์การสาธารณสุขให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล และให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพสู่ความเป็นมืออาชีพ มีองค์ความรู้และศักยภาพ ทั้งด้านวิชาการและบริหารจัดการ โดยจัดเวทีการประชุมวิชาการประจำปี เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุขทุกสาขาวิชาชีพได้ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และนำองค์ความรู้ใหม่ๆ เผยแพร่เวทีสาธารณะ รวมทั้งเปิดโอกาสให้บุคลากรส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ นวัตกรรมที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ นำไปสู่การพัฒนาเครือข่ายทางวิชาการ และการพัฒนาคุณภาพระบบบริการตามแผนพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) ของกระทรวงสาธารณสุข

นายแพทย์เจษฎากล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกระดับพัฒนาระบบบริการให้คล่องตัว เพิ่มความสะดวกและการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน ลดความแออัด ลดการรอคอย ลดค่าใช้จ่าย รองรับประชากรที่เพิ่มขึ้นและการเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้ ประชาชนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศปีละเกือบ 300 ล้านครั้ง โดยมีโรงพยาบาลศูนย์ 33 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 83 แห่ง เป็นกลไกขับเคลื่อนแผนพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) ตามยุทธศาสตร์ความเป็นเลิศด้านระบบบริการ และพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่าง ๆ เช่น อุบัติเหตุฉุกเฉิน โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง ทารกแรกเกิด มีระบบส่งต่อที่เชื่อมโยงถึงโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  และชุมชน   ซึ่งได้ผลดี  เช่น สาขาโรคหัวใจและหลอดเลือด สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมองตีบที่โรงพยาบาลชุมชน หากต้องผ่าตัดจะส่งต่อมาที่โรงพยาบาลศูนย์เชี่ยวชาญ เมื่อผู้ป่วยพ้นระยะวิกฤตจะส่งกลับไปดูแลต่อในโรงพยาบาลชุมชน และจัดระบบติดตามดูแลต่อเนื่องที่บ้านโดยทีมหมอครอบครัว รวมทั้งได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการ เป็นสมาร์ท ฮอสพิทัล (Smart Hospital) อาทิ การนัดหมาย การจัดคิวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล การเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเอง การจัดยาและจ่ายยาที่ถูกต้องรวดเร็ว การประสานส่งต่อข้อมูลผู้ป่วย ให้ประชาชนได้รับการรักษาใกล้บ้านภายในเขตสุขภาพ

แหล่งข่าวโดย » สำนักสารนิเทศ