สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : กระเจี๊ยบแดง สมุนไพรเพื่อโรคเรื้อรัง สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร

กระเจี๊ยบแดง สมุนไพรพื้นบ้านของทั้งไทยและเทศ ส่วนที่นิยมนำมาใช้ทำยาคือ กลีบเลี้ยงดอกที่มีสีแดง ผู้คนนิยมใช้สีจากกระเจี๊ยบแดงในการสร้างสรรค์อาหารและเครื่องดื่ม ให้มีความสวยงาม ช่วยเพิ่มความน่ารับประทานยิ่งขึ้น กระเจี๊ยบแดง เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา ถูกนำมาใช้ประโยชน์เชิงสุขภาพมายาวนาน ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ

กระเจี๊ยบแดงเป็นสมุนไพรที่มีใช้มานานนับพันปี มีการใช้ในอียิปต์มีความเชื่อว่าสามารถใช้เพื่อลดไข้ และใช้เป็นยาบำรุงหัวใจและระบบประสาท  ปัจจุบันเรามักพบกระเจี๊ยบแดงถูกวางจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้า ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รูปแบบแคปซูล ทินต์ ผง และ รูปแบบที่นิยมมากที่สุดคือรูปแบบชาชง

ด้านการแพทย์แผนไทย

กระเจี๊ยบแดง ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ บำรุงโลหิต ลดความดันโลหิต ไขมันในเลือด แก้อ่อนเพลีบ บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ดีพิการ แก้โรคเบาหวาน และเส้นเลือดตีบตัน ในใบมีวิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา กลีบเลี้ยงกลีบดอกมีแคลเซียมช่วยบำรุงกระดูกและฟันได้

ประโยชน์ของ กระเจี๊ยบแดงในโรคเรื้อรัง

โรคความดันโลหิตสูง

มีการศึกษาฤทธิ์ของ ชาชงกระเจี๊ยบแดง ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง จาก วารสารสุขภาพ The Journal of Hypertension. จาก ประเทศออสเตรเลีย และโรมาเนีย ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง จำนวน 390 คน โดยให้ 225 คน ใช้ กระเจี๊ยบแดง และ 165 คน ใช้ยาหลอก พบว่า กลุ่มที่ใช้ ชาชงกระเจี๊ยบแดง ทุกวัน สามารถลดความดันโลหิตได้ โดยเฉลี่ย ความดันโลหิตตัวบน (systolic) ลดลงเฉลี่ย 7.5 มิลลิเมตรปรอท และ ความดันตัวล่าง(Diastolic) ลดลงเฉลี่ย 3.53 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้

โรคเบาหวาน

ข้อมูลการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน พบว่า กระเจี๊ยบแดงมรแนวโน้มที่เป็นประโยชน์ต่อ เบาหวานชนิดที่2 (type2 Diabetes) สามารถช่วยให้คุมระดับน้ำตาลได้ดีเมื่อใช้สมุนไพรชนิดนี้ จากการศึกษาในสัตว์ทดลองเมื่อปี 2013 Pharmacognosy Research  ทำการทดลองฉีดสารสกัดกระเจี๊ยบแดงเข้าไปในหนูทดลอง พบว่าช่วยให้ระดับน้ำตาลลดลง 12% และทดลองฉีดสาสกัดในหนูที่ระดับน้ำตลปก พบว่า ไม่มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของหนูเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ในปี 2009 มีการศึกษา Journal of Alternative and Complementary Medicine ในผู้ป่วยเบาหวาน 60 คน ให้ดื่มชากระเจี๊ยบแดง และ ชาดำ เปรียบเทียบกัน วันละ 2 ครั้ง ต่อเนื่อง 30 วัน พบว่า 53 คน มีระดับไขมันดี (HDL) เพิ่มขึ้น และ ไขมันเลว (LDL) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับชาดำ และ คอเลสเตอรอล กับ ไตรกลีเซอไรด์ ลดลงอย่างต่อเนื่องจึงสามารถช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

ขนาดการรับประทาน

กระเจี๊ยบแดงขนาด 1 ช้อนชา ชงกับน้ำร้อน 150 มิลลิลิตร นาน 15 นาที วันละ 1-3 ครั้ง ต่อวัน

ข้อควรระวัง

  1. กระเจี๊ยบแดงอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ในผู้ป่วยบางราย เพราะมีฤทธิ์เป็นยาระบาย
  2. น้ำกระเจี๊ยบมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ แม้ว่าจะมีความเป็นพิษต่ำมาก แต่ก็ไม่ควรดื่มในปริมาณเข้มข้นและติดต่อกันนาน ๆ เพราะจะไม่เกิดผลดีต่อสุขภาพ
  3. เลี่ยงการกินกระเจี๊ยบแดงต่อเนื่องกันนานเกินไป เนื่องจากผลการศึกในสัตว์ทดลองพบว่า ทำให้เกิดพิษต่อเซลล์ของอัณฑะและตัวอสุจิได้

ข้อห้ามใช้

  1. ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง

อ้างอิง

Richard N. Health benefits of Hibiscus.2019; https://www.verywellhealth.com/health-benefits-of-hibiscus-tea-89620

บัญชีสมุนไพร มหาวิทยาลัยศิลปากร http://pharmacy.su.ac.th/herb/text/herb_detail.php?herbID=1

ขอบคุณข้อมูลจากสถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร