สคบ. เตือน แชร์ลูกโซ่รูปแบบออนไลน์ ไม่ใช่ธุรกิจขายตรง

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่ามีการชักชวนให้ร่วมลงทุนผ่านแอปพลิเคชัน โดยยิ่งชักชวนคนให้เข้ามาในระบบมาก ก็จะได้รับผลตอบแทนมาก ซึ่งผลตอบแทนดังกล่าว เกิดขึ้นจากจำนวนสมาชิกใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อชักชวนคนให้เข้ามาในระบบแล้ว ผู้ที่เข้ามาในระบบจะต้องชำระค่าธรรมเนียม และเมื่อคนที่เข้ามาในระบบไปหาสมาชิกรายใหม่ให้มาสมัครได้ก็จะได้รับผลตอบแทน ซึ่งในขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) ได้กำลังจับตาและสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว

สคบ. จึงขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ ใช้สติในการวิเคราะห์อย่างรอบด้าน และความสมเหตุสมผลในการประกอบธุรกิจ ซึ่งพฤติกรรมการหลอกลวงได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจากเดิมเป็นอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันรูปแบบการหลอกลวงให้ประชาชนร่วมลงทุนได้มีการนำสินค้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการโน้มน้าวใจหรือชักจูงใจให้ผู้ที่จะลงทุนเกิดความมั่นใจและเข้าร่วมลงทุน สคบ. ขอเตือนภัยแชร์ลูกโซ่รูปแบบใหม่ในรูปแบบออนไลน์ให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ ดังนี้

1. การเก็บค่าสมัครสมาชิกจำนวนมาก เช่น 1,000 หรือ 1,500 บาท เพื่อเป็นค่าสมัครสมาชิก โดยหลังจากสมัครสมาชิกแล้ว ผู้สมัครจะมีชื่อเรียก เช่น VIP หรือชื่อเรียกเป็นตำแหน่งต่างๆ เป็นต้น
2. บังคับให้สมาชิกที่เข้าร่วมลงทุนซื้อสินค้าเป็นแพ็คเกจ (Package) ที่กำหนดไว้ เช่น ซื้อแพ็คเกจ VIP แล้วจะได้ตำแหน่งทางธุรกิจ และยิ่งซื้อแพ็คเกจที่มีราคาสูงก็จะได้รับตำแหน่งทางธุรกิจที่สูงขึ้น เป็นต้น
3. คุณภาพสินค้าเมื่อเปรียบเทียบราคาที่จ่ายไปแล้ว ไม่สมเหตุสมผลกัน โดยสินค้าส่วนใหญ่มักจะเป็นสินค้านำเข้า แต่ไม่ได้มีการจัดทำฉลากสินค้าเป็นภาษาไทย
4. รายได้หลักมาจากการหาสมาชิกใหม่ หรือชักชวนสมาชิกใหม่ ให้ร่วมลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกรณีของการที่ผู้แนะนำได้แนะนำสมาชิกใหม่ให้เข้าระบบ และเมื่อสมาชิกใหม่ชำระเงินค่าสมาชิกแล้ว ผู้แนะนำก็จะได้รับค่าแนะนำจากการหาสมาชิก
5. เน้นการหาสมาชิกใหม่ หรือชักชวนสมาชิกใหม่ให้เข้าร่วมเป็นเครือข่าย และเมื่อสมาชิกใหม่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายแล้ว จะได้แนะนำให้สมาชิกใหม่คนนั้น ไปหาสมาชิกใหม่อีกไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจการขายสินค้าไปยังผู้บริโภค
6. การชักชวนมักจะแสดงรายได้ที่ได้รับจากการลงทุนจำนวนน้อย เช่น 1,500 บาท แต่ได้รับเป็นรายได้จำนวนมาก เช่น 1,000,000 บาท เป็นต้น
7. แอบอ้างบุคคลที่มีชื่อเสียงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยใช้ภาพถ่ายหรือข้อมูลที่หาแหล่งข้อมูลอ้างอิงอื่นไม่ได้
8. แม่ทีมหรือผู้ที่มาชักชวนมักอ้างว่าตนเองอยู่ในวงการธุรกิจลักษณะนี้มานานและธุรกิจนี้น่าเชื่อถือที่สุด โดยไม่ได้บอกเหตุผลและข้อมูลอย่างอื่น