ปส. เสริมความรู้บุคลากรพร้อมจัดการความเสื่อมเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เทียบมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดเสริมความรู้เชิงเทคนิคจัดการความเสื่อมของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 8 – 11 สิงหาคม 2561 ณ เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี หวังเพิ่มประสิทธิภาพ และแนวปฏิบัติในทิศทางเดียวกันกับมาตรฐานสากล

วันที่ 8 สิงหาคม 2561 เวลา 09.00 น. นางวราภรณ์ วัชรสุรกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์  เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดการความเสื่อมของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยและการตรวจสอบคอนกรีต” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ ปส. และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. มีความรู้และเข้าใจการจัดทำกฎ ระเบียบ และแนวปฏิบัติการจัดการความเสื่อมสภาพของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย ยังผลให้การกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของ ปส. มีประสิทธิภาพ

นางวราภรณ์  กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูแบบวิจัย ปปว.-๑/๑ ตั้งอยู่ ณ สทน.  โดยการกำกับดูแลของ ปส. ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า ๕๗ ปี ได้มีการศึกษาและพัฒนาแนวทางการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากเครื่องปฏิกรณ์ดังกล่าว มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้มีการจัดการความเสื่อมอย่างเป็นระบบตามหลักของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) โดยการจัดฝึกอบรมครั้งนี้ เป็นการให้ความรู้ที่มุ่งเน้นที่ความเสื่อมของวัสดุประเภทคอนกรีต เนื่องจากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูแบบวิจัย ปปว.-๑/๑ เป็นชนิด Pool-type ที่บ่อทำจากคอนกรีตและเคลือบด้วยสีแบบกันน้ำ จึงสัมผัสกับน้ำโดยตรง และมีโอกาสที่จะถูกน้ำซึมเข้าไปและถูกกัดกร่อนได้ง่าย ความแข็งแรงคงทนอาจมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต่างจากบ่อของเครื่องปฏิกรณ์วิจัยอื่นที่มี Liner ทำจากแผ่นโลหะอยู่ด้านในของบ่อคอนกรีต ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเสื่อมที่เกิดขึ้นกับคอนกรีต วิธีการประเมินผล และการบำรุงรักษา จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องเข้าใจและมีความรู้อย่างถูกต้อง

นางวราภรณ์  กล่าวเพิ่มเติมว่า การให้ความรู้ในเชิงเทคนิคครั้งนี้ จะมีการสาธิตวิธีการตรวจสอบและป้องกันความเสื่อมในคอนกรีตของเขื่อนที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ต้องการความแข็งแรงทนทานเป็นอย่างมาก โดยมีวิทยากรจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลมาให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าว ปส. หวังว่าจะเป็นการพัฒนาความสามารถของบุคลากร เข้าใจวิธีการและแนวปฏิบัติที่ถูกต้องร่วมกัน และนอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตหากประเทศไทยจะมีเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยเครื่องใหม่มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ กองอนุญาตทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ         โทรศัพท์ 0 2596 7600 ต่อ 3614