สธ.ประชุมทางไกลกำชับโรงพยาบาล เตรียมรับมือน้ำท่วม ทำแผนจัดบริการไม่ให้กระทบประชาชน

กระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ กำชับจังหวัดเสี่ยงเกิดอุทกภัย จัดระบบเฝ้าระวัง ตลอด 24 ชั่วโมง ประชาชน หากเจ็บป่วยฉุกเฉินโทร 1669 หรือสอบถามเรื่องโรคติดต่อต่างๆ ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

วันที่ 7 สิงหาคม 2561 ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน(Emergency Operation center :EOC) กรณีอุทกภัยและดินโคลนถล่ม และประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ กับผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมรับอุทกภัยและแผนการจัดบริการประชาชน

นพ.โอภาส กล่าวว่า ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.เจษฎา  โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยสุขภาพประชาชนและสถานบริการในสังกัดในพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยที่ตั้งอยู่ในที่ลุ่ม ริมแม่น้ำ พื้นที่ใกล้เขื่อน ได้กำชับให้จัดระบบเฝ้าระวัง น้ำจากฝนตกหนัก  น้ำจากเขื่อน ลุ่มแม่น้ำ ตลอด 24 ชั่วโมง ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ได้แก่ ลุ่มแม่น้ำเพชรบุรี  น้ำจากเขื่อนที่จังหวัดกาญจนบุรี สกลนคร ประจวบคีรีขันธ์และอุบลราชธานี รวมทั้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงประสบภัยน้ำท่วม เช่น  อำนาจเจริญ นครพนม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ บึงกาฬ

ในส่วนของสถานบริการ ให้เฝ้าระวังไม่ให้มีผลกระทบกับการบริการประชาชน โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ต้องป้องกันอย่างเต็มที่  เพราะหากน้ำท่วมจะกระทบกับประชาชนมาก  ขณะนี้มีสถานบริการได้รับผลกระทบ 2แห่งเป็น รพ.สต.ในจังหวัดเพชรบุรี คงให้บริการได้ตามปกติ  ในส่วนเฝ้าประชาชน ที่ได้รับผลกระทบได้ให้ส่งทีมหมอครอบครัวและ อสม. ออกเยี่ยมบ้านสำรวจและดูแลกลุ่มเสี่ยง  ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด  ให้การดูแลต่อเนื่อง ไม่ให้ขาดยา นอกจากนี้ ยังได้เฝ้าระวังโรคป้องกันโรค อุบัติภัยที่มากับน้ำท่วม แนะนำให้ความรู้ในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการ จมน้ำ ไฟดูด โรคที่มากับน้ำท่วม เช่นโรคฉี่หนู

ผลการประชุมทางไกลนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี ได้รายงานการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์เรียบร้อยแล้ว โดยผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 5 ได้ไปอำนวยการและประสานการทำงานกับจังหวัดภายใต้การสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัด เน้นการป้องกันโรงพยาบาลพระจอมเกล้า และโรงพยาบาลท่ายาง ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อน ได้เตรียมกระสอบทราย เครื่องสูบน้ำ ขนย้าย ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สิ่งของสำคัญไว้ในที่ปลอดภัย  เตรียมความพร้อมสาธารณูปโภคพื้นฐาน ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ออกซิเจน อาหารและน้ำดื่มสำหรับผู้ป่วย สำรวจระบบสำรองไฟฟ้า เครื่องปั่นไฟ ให้พร้อมใช้งาน มีแผนการอพยพผู้ป่วย จัดระบบการส่งต่อผู้ป่วย สำรวจเส้นทางการขนย้าย  เตรียมจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่บริการนอกโรงพยาบาล

“ขอให้โรงพยาบาลทุกแห่งทำแผนป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาลอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ ต้องมีแผนป้องกัน แผนจัดบริการนอกสถานที่และแผนอพยพผู้ป่วย และหากโรงพยาบาลในพื้นที่ใดน้ำท่วมกระทบต่อการจัดบริการผู้ป่วย หรือเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ประชาชนเข้ารับบริการยากลำบาก ให้รายงานส่วนกลางทันที เพื่อจะได้ส่งทีมแพทย์ พร้อมยาเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สนับสนุนทันที ”นพ.โอภาสกล่าว

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ติดตามสถานการณ์และปฏิบัติตามข้อแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด ผู้มีโรคประจำตัว เตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม ประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสอบถามเรื่องโรคติดต่อต่างๆ ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422