กรมควบคุมโรค ชูแอพ “ทันระบาด” 1 ใน 7 นวัตกรรมระดับชาติปี 61

กรมควบคุมโรค ชูแอพพลิเคชั่น “ทันระบาด” ที่ได้รับเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ให้เป็น1 ใน 7 ผลงานนวัตกรรมระดับชาติปี 61 แอพฯนี้ใช้เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก    พร้อมรายงานผลและแสดงสถานการณ์แบบเรียลไทม์ พร้อมเชิญชวนประชาชนร่วมสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายรอบบ้าน

วันที่ 7 สิงหาคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมควบคุมโรคมุ่งมั่นสร้างนวัตกรรมที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพให้สะดวก รวดเร็วและเหมาะสมกับบริบทของไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งแอพพลิเคชั่น “ทันระบาด” ได้รับเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้เป็น 1 ใน 7 ผลงานนวัตกรรมระดับชาติที่มีศักยภาพ มีประโยชน์ต่อชุมชน สังคม เศรษฐกิจและประเทศ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เป็นผู้นำเสนอผลงานต่อนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561 (Thailand Research Expo 2018)

นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวว่า แอพพลิเคชั่น “ทันระบาด” เป็นชุดซอฟแวร์ที่ผลิตขึ้นจากความร่วมมือของ  4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เพื่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และประชาชนในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยการสำรวจค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย ติดตาม วิเคราะห์และรายงานผลแบบเรียลไทม์ ทั้งนี้ ยังทราบความเสี่ยงก่อนเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก อีกทั้ง ผู้บริหารสามารถวางแผนการควบคุมความเสี่ยง เฝ้าระวัง ควบคุมโรคได้รวดเร็วทันเหตุการณ์

ประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นทันระบาดได้โดยพิมพ์ “ทันระบาด” ที่ช่องค้นหาและกดติดตั้ง เมื่อทำการสำรวจลูกน้ำยุงลายในพื้นที่บ้านหรือชุมชน ให้บันทึกข้อมูลลงแอพพลิเคชั่นในเมนู ทันระบาดสำรวจ (TanRabad Survey) ซึ่งสามารถระบุพิกัดสถานที่ที่พบลูกน้ำยุงลายได้ ยังสามารถดูสถานการณ์ระบาดของโรคติดต่อ และดัชนีทางกีฏวิทยาแบบเรียลไทม์ในรูปแผนที่และตารางได้ที่เมนู ทันระบาดติดตาม (TanRabad Watch)

“การป้องกันโรคไข้เลือดออกเป็นหน้าที่ของทุกคน ดังนั้น ควรหมั่นตรวจสอบภาชนะที่มีน้ำขังที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น ยางรถยนต์ แจกัน อ่างน้ำหรือขยะที่มีน้ำขังรอบบริเวณบ้านของตนเองและชุมชน พร้อมร่วมรายงานลงในแอพพลิเคชั่น เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานป้องกัน ควบคุมโรคของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น การสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคไข้เลือดออกและโรคที่มาจากยุงลายได้” นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าว

 

*****************************************

ข้อมูลจาก: สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง/ สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค