กรมอุทยานแห่งชาติฯ เผยผลการรักษาบาดแผลบริเวณขาหน้าของลูกช้างป่าที่พลัดหลงฝูง อาการดีขึ้นมาก เตรียมประชุมเจ้าหน้าที่หาวิธีปล่อยคืนสู่ป่าอย่างปลอดภัย

(15 พ.ค.63) จากกรณีที่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าพบลูกช้างป่าพลัดหลงจากฝูง บริเวณหมู่บ้านบ้านไผ่งาม ต.ระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ ขสป.ห้วยขาแข้งชุดติดตามช้างได้ร่วมกับประชาชนจับลูกช้างไว้ได้ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 เวลาประมาณ 08.30 น. ระหว่างบ้านไผ่งาม-ทุ่งแฝก ต.ระบำ อ.ลานสัก และเจ้าหน้าที่ได้นำลูกช้างไปอนุบาลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อความปลอดภัยของลูกช้าง เนื่องจากไม่ทราบแน่ชัดว่าลูกช้างพลัดหลงฝูงจากที่ใดหรือฝูงใด และจากการตรวจสอบพบว่าเป็นลูกช้างเพศผู้ อายุ 2-3 เดือน

นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กรมอุทยานแห่งชาติฯกล่าวว่า ได้รายงานให้นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ รับทราบแล้วตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. ซึ่งตนเองได้ประสานงานให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูสุขภาพของลูกช้าง โดยมีเจ้าหน้าที่ ขสป.ห้วยขาแข้งและสัตวแพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ พบว่าลูกช้างมีความแข็งแรงมาก ส่งเสียงร้องเป็นบางครั้ง โดยเฉพาะเมื่อหิวนม ซึ่งเห็นว่าลูกช้างมีสุขภาพที่แข็งแรง จึงได้เรียกเจ้าหน้าที่ประชุมวางแผนหาทางปล่อยลูกช้างให้คืนสู่อกแม่ เน้นดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อให้ทั้งเจ้าหน้าที่ปลอดภัย ลูกช้างปลอดภัยกลับเข้าสู่ฝูงที่ถูกต้อง ซึ่งในช่วงแรกได้สั่งการให้ชุดลาดตระเวนติดตามฝูงช้างในพื้นที่ รวมถึงตรวจสอบกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า ว่ามีการบันทึกฝูงช้างที่มีลูกช้างไว้หรือไม่ เพื่อวิเคราะห์ว่าลูกช้างมาจากฝูงช้างใด จะได้นำลูกช้างกลับเข้าสู่ฝูงให้ถูกฝูงต่อไป

“ในช่วงแรกที่นำลูกช้างมาดูแลไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีนายธานี วงศ์นาค หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นางสาวอังสนา มองทรัพย์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นายสัตวแพทย์ ปิยะ เสรีรักษ์ สัตวแพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นคณะดูแลลูกช้าง ตลอดจนได้เชิญผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมเพื่อดำเนินการด้านต่างๆ ในการวางมาตรการดูแลลูกช้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการทำคอกให้ลูกช้างอยู่ ดูแลและให้น้ำ,อาหารให้นมลูกช้าง ซึ่งลูกช้างมีสุขภาพดี และแข็งแรงดีมาก ขับถ่ายปกติ ส่งเสียงร้องบ้าง และรอแม่ช้างแต่แม่ช้างหรือฝูงช้างยังไม่ได้ผ่านมารับเข้าฝูง” นายธนิตย์ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ทีมสัตวแพทย์สบอ.12 (นครสวรรค์) ได้สังเกตเห็นว่าที่เท้าหน้าด้านซ้ายของลูกช้างมีอาการบวม ซึ่งเดิมมีแผลเก่าเล็กๆ อยู่ น่าจะเกิดจากลูกช้างเดินรอบคอกกักทั้งคืนเพื่อหาทางออก จึงทำให้เกิดแผลอักเสบขึ้น สัตวแพทย์จึงได้มีการทำแผล พร้อมทั้งตรวจเลือด ดำเนินการตรวจสุขภาพวัดอุณหภูมิลูกช้าง และรักษาแผลของลูกช้างอย่างดี มีการจัดทำคอกทางเดินเพื่อให้สะดวกต่อการทำแผลและลดความเครียดของลูกช้างอีกด้วย

นายธนิตย์ ผอ.สบอ.12 (นครสวรรค์) กล่าวอีกว่า “คณะสัตวแพทย์ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาแผลบริเวณข้อเท้าหน้าด้านซ้ายของลูกช้างป่าว่าได้ทำความสะอาดแผล แม้ช่วงแรกจะพบว่าเป็นหนอง แต่ได้ทำการล้างแผลและพ่นด้วยยาฆ่าเชื้อ ป้ายยาด้วยครีมขี้ผึ้งผสมยาฆ่าหนอนเพื่อป้องกันไม่ให้แมลงวันมาวางไข่ที่แผล และเมื่อแผลดีขึ้น จึงได้เช็ดแผลด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ พบว่าบริเวณแผลมีการสร้างเซลล์ใหม่มาทดแทนเซลล์ที่เสียหาย และต้องรอให้แผลสะอาด ไม่มีการติดเชื้อแน่นอนแล้ว จะเริ่มใช้เจลเร่งสร้างเนื้อเยื่อต่อไป คาดว่าก่อนสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 นี้ แผลที่ขาหน้าซ้ายของลูกช้างจะหายเป็นปกติ

สำหรับความคืบหน้าการดูแลรักษาแผลและสุขภาพของลูกช้างป่านั้น เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะเจ้าหน้าที่รายงานและมีความเห็นว่า แผลบริเวณข้อเท้าด้านซ้ายดีขึ้นมาก สุขภาพลูกช้างป่าแข็งแรง และมักจะส่งเสียงร้องเสียงดังเวลาที่หิวนม ประมาณดัชนีมวลกายของลูกช้างป่า (Body score) อยู่ที่ 3-3.5 จาก 10 บ่งชี้ว่า ไม่อ้วนและไม่ได้ผอมจนเกินไป ส่วนลักษณะของบาดแผลที่ข้อเท้าด้านซ้าย มีขนาดเล็กลงมาก มีหนองเล็กน้อย มีการสร้างเนื้อเยื่อใหม่มาทดแทนส่วนที่เสียหายไปเห็นได้อย่างชัดเจน ทางผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าลักษณะของแผลแบบนี้คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ น่าจะหายเป็นปกติ หากไม่มีการติดเชื้อแทรกซ้อนและรักษาความสะอาดได้เป็นอย่างดี ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญคาดว่า เมื่อแผลของลูกช้างหายดีแล้ว ควรวางแผนเพื่อจะนำส่งลูกช้างป่าที่พลัดหลงคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม /กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช