‘กรมเจรจาฯ’ เผยทองคำดันส่งออกไทยไปอาเซียนไตรมาสแรกโต 4%

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยส่งออกไทยไปอาเซียนไตรมาสแรกปี 63 ขยายตัว 4.35% มูลค่า 16,280 ล้านเหรียญสหรัฐ เหตุส่งออกทองคำขยายตัวสูงถึง 251.1% อนิสงส์จากคนหันมาถือสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มสูงขึ้น ทำราคาทองคำพุ่ง ประกอบกับสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวได้ดี

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบกับการส่งออกทั่วโลก แต่การส่งออกของไทยไปอาเซียนในไตรมาสแรกของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) ยังคงขยายตัวถึงร้อยละ 4.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 มีมูลค่ารวม 16,280 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีปัจจัยหนุนจากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 251.1 ซึ่งมาจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มสูงขึ้นของผู้บริโภค ส่งผลให้ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น

นางอรมน เพิ่มเติมว่า สำหรับการส่งออกสินค้าของไทยไปอาเซียนในไตรมาสแรกของปี 2563 พบว่าสินค้าหลายกลุ่มยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการเตรียมความพร้อมของผู้บริโภคในช่วงวิกฤตโควิด-19 อาทิ เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 3.1 ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 7.4 สิ่งปรุงรส ขยายตัวร้อยละ 17.3 อาหารทะเลกระป๋องแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 34.4 และเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ขยายตัวร้อยละ 4.7 รวมถึงสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม อาทิ น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 13.9 ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 13.6 ไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 11.5 ไข่ไก่สด ขยายตัวร้อยละ 52.1 และสินค้าปศุสัตว์อื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 137.2 และสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ อากาศยาน ยานอวกาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 1,079.36 เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 25.4

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้อาเซียน หรือ AFTA ในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2563 พบว่า สินค้าที่อยู่ในกลุ่มที่ขยายตัวได้ดีข้างต้น เป็นสินค้าเดียวกันกับที่มีการใช้สิทธิฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 อาทิ น้ำตาลที่ได้จากอ้อย ใช้สิทธิฯมูลค่า 178.56 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 38.29 นม UHT และนมถั่วเหลือง ใช้สิทธิฯมูลค่า 85.28 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 127.24 ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส ของผสมที่ใช้ปรุงรส และของผสมที่ใช้ชูรสอื่นๆ ใช้สิทธิฯมูลค่า 27.71 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 20.05 ทั้งนี้ ปัจจุบันสมาชิกอาเซียนได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าทั้งหมดแล้ว ยกเว้นสินค้าอ่อนไหวบางรายการ ส่วนไทยยังคงภาษีนำเข้าเนื้อมะพร้าวแห้ง เมล็ดกาแฟ ไม้ตัดดอก และมันฝรั่ง ร้อยละ 5

นางอรมน เสริมว่า ความตกลงการค้าเสรี (FTA) จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดภาระต้นทุนทางภาษี เพิ่มมูลค่าการส่งออกและการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยได้ แม้จะเกิดวิกฤตที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนของการค้าโลก จึงขอให้ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยขยายส่งออกได้เพิ่มขึ้น

อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย และเป็นทั้งตลาดส่งออกและตลาดนำเข้าอันดับที่ 1 โดยในปี 2562 การค้าของไทยกับอาเซียนมีมูลค่า 107,928 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการส่งออก 62,904 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้า 45,024 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าถึง 17,880 ล้านเหรียญสหรัฐ หากเปรียบเทียบสถิติการค้าในปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนมีเอฟทีเอกับปี 2562 พบว่า การค้าของไทยกับอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 976 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 1,301


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

13 พฤษภาคม 2563