กรมอุทยานแห่งชาติฯ เชิญชวนประชาชนลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและงดใช้โฟมบรรจุอาหารในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เริ่ม 12 สิงหาคม พ.ศ.2561

วันที่ 6 ส.ค.61 นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ตามที่พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินโครงการ “ทำดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม”ด้วยการลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและงดใช้โฟมบรรจุอาหารในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งอุทยานแห่งชาติทั้ง 154 แห่ง (ทางบก 128 แห่ง,ทางทะเล 26 แห่ง) เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ โดยรัฐบาลได้สนับสนุนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติกับประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สร้างรายได้ให้ประเทศไทยจำนวนมาก จากข้อมูลในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2561 มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 16 ล้านคน แต่พบปัญหาที่ตามมาจากการท่องเที่ยว คือ ขยะและน้ำเสีย โดยเฉพาะขยะพลาสติก ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ทั้งสัตว์น้ำและสัตว์ป่า ดังเช่นข่าวที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ มีการเสนอภาพการตายของสัตว์ทะเล พบเศษขยะและพลาสติกอยู่ในกระเพาะอาหาร ขณะที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดปราจีนบุรี พบสัตว์ป่าตาย เนื่องจากระบบการย่อยอาหารล้มเหลว ในลำไส้และกระเพาะอาหารพบเศษขยะพลาสติก นอกจากนี้ยังพบว่ามีเศษพลาสติกจากฝาขวดบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา ปลิวกระจายตามลมไปหลายจุดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ บางแห่งพบตามแหล่งน้ำทะเล ซึ่งส่งผลกระทบต่อปะการัง สัตว์น้ำ ลดความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยว เป็นปัญหาขยะและน้ำเสีย ยากต่อการจัดเก็บและย่อยสลายตามธรรมชาติ

“พลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ที่นิยมใช้อย่างยิ่ง เพราะสะดวกในชีวิตประจำวัน แต่เนื่องจากถุงพลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ยาก ทำให้มีปริมาณขยะประเภทถุงพลาสติกสะสมและตกค้างเป็นจำนวนมาก ซึ่งในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา มีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 12% ของปริมาณขยะ หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน สามารถนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์เฉลี่ยประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นเศษขยะถุงพลาสติกที่ปนเปื้อน อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็นบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว (ประมาณ 80% หรือ ประมาณ 1.2 ล้านตัน)”

“ดังนั้น กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงเข้าร่วมโครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” ตามแนวคิด 3 Rs คือ การใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ (Reduce Reuse Recycle : 3Rs) พร้อมทั้งจัดรณรงค์ลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ขวดน้ำที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด หลอด และช้อน-ส้อม ที่ทำจากพลาสติก ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 พร้อมกันในอุทยานแห่งชาติ 154 แห่งทั่วประเทศ”นายจงคล้ายกล่าว

นายจงคล้าย กล่าวอีกว่า “อุทยานแห่งชาติทุกแห่ง ยังได้นำหลักการจัดการขยะแบบเหลือศูนย์มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้การจัดการขยะในอุทยานแห่งชาติ ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง เหมาะสม เป็นต้นแบบในการจัดการขยะ ทั้งนี้ยังได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการบริเวณภายนอกเขตอุทยานแห่งชาติ ทั้งชุมชน ร้านค้า ตลาด และท่าเทียบเรือ รอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ในการร่วมโครงการดังกล่าวด้วย”

นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกอุทยานแห่งชาติ จัดกิจกรรมโครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” กิจกรรม : การลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและงดใช้โฟมบรรจุอาหารในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 พร้อมกันทั่วประเทศ ส่วนการอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่มาเที่ยวอุทยานแห่งชาติ แต่อาจหลงลืมหรือยังติดขัดบางกรณี ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯก็ได้มีการจัดกิจกรรมให้ยืมถุงผ้าหรือบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ไว้คอยให้บริการ และจัดกิจกรรมโครงการรณรงค์นำขยะคืนถิ่น / มัดจำขยะ การจัดกิจกรรมเก็บขยะชายหาดและขยะใต้ทะเล (ทางทะเล และแหล่งน้ำ) อีกทั้งขอความอนุเคราะห์ให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการลดราคาเครื่องดื่ม เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวหวังให้ลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ขวดน้ำที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด หลอด และช้อน-ส้อม ที่ทำจากพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง อย่างน้อย 3 ล้านใบ/ชิ้น และเชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการร้านค้า เยาวชน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมโครงการฯอย่างน้อย 10 ล้านคนในปีนี้

 

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม /กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช