“มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เสนอ สธ.ตรวจโควิดฟรี ให้ผู้ค้าในตลาดสด-ตลาดนัด “เครือข่ายครอบครัว” แนะเด็ก ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงไปตลาด

“มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เสนอ สธ.ตรวจโควิดฟรี ให้ผู้ค้าในตลาดสด-ตลาดนัด “เครือข่ายครอบครัว” แนะเด็ก ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงไปตลาด ด้าน กรมอนามัย ระบุ ตลาดร้อยละ 90 ให้ความร่วมมือทั้ง ล้างมือและใส่หน้ากาก แต่ยังเป็นปัญหาเรื่องรักษาระยะห่าง

วันที่ 8 พฤษภาคม แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “ถอดรหัสจัดระเบียบตลาด ลดเสี่ยงโควิด-19” ณ ห้องประชุมชั้น 2 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ผ่านระบบ VDO Conference โดยมี นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายเจกะพันธ์ พรมมงคล ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคใต้ และนายชูวิทย์ จันทรส เลขานุการขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ถูกผ่อนปรนมากขึ้น กรมอนามัยและภาคีเครือข่ายให้ความสำคัญ กับมาตรการคัดกรองเน้นให้มีอ่างล้างมือ ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง มีป้ายแจ้งเตือน มีเสียงตามสายประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีคนมารวมตัวกันจำนวนมาก ตลาดนัด ตลาดสด ตลาดชุมชน ตลาดน้ำ ส่วนที่กำลังเป็นประเด็นและมีคนถามมาเยอะ คือ ความแออัดของแผงค้าในตลาด ที่อัดแน่นเกินไป และต้องขอความร่วมมือเรื่องห้ามจัดนาทีทอง โปรโมชั่นจูงใจเพราะทำให้คนกรูวิ่งเข้ามารุมซื้อของ เบียดเสียด สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ

“ตลาดส่วนใหญ่ กว่าร้อยละ 90 ให้ความร่วมมือดี มีการวางระบบ มีการจัดการเชิงพื้นที่ที่ดี เหลือแค่การเว้นระยะห่างเท่านั้นที่ต้องร่วมมือกัน การตีเส้นจัดระยะช่วยได้ ยิ่งตอนนี้พบว่าหลายๆตลาดมีนวัตกรรมเกิดขึ้น เช่นที่กั้นแผงใสๆไว้หน้าร้านขายอาหารปรุงสำเร็จ เพื่อกันลูกค้าให้ห่าง สร้างความอุ่นใจให้ผู้มาจับจ่ายใช้สอย หรือแม้แต่อ่างล้างมือที่เป็นแบบเท้าเหยียบซึ่งเครือข่ายได้ทำต้นแบบออกมา ก็พบว่ามีหลายพื้นที่นำไปประยุกต์ใช้ในตลาดกันแล้ว ทั้งนี้เราต้องคิดเสมอว่า ยังไงๆสถานการณ์นี้ก็ต้องเดินหน้าในระยะเวลาพอสมควร เราต้องเข้าใจโรค แล้วรักษาจุดแข็งไว้ให้ได้ เมื่อเราทำให้เป็นนิสัย ต่อให้โควิดหมดไป ตลาดก็ปลอดภัยเราก็ปลอดภัย ผู้ประกอบการก็สบายใจ ตลาดไม่ต้องปิดๆเปิดๆ ผู้ซื้อก็สบายใจ” แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าว

นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า ตลาดหลายแห่งเกิดการปรับตัว รักษากฎกติกา รักษาความสะอาด ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ทุกคนใส่หน้ากาก ล้างมือ จัดระเบียบทางเข้าออก วัดอุณหภูมิ เท่าที่สังเกตคนจะเดินซื้อของในตลาดเล็กๆ มากกว่าตลาดขนาดใหญ่ ลดการเดินทางไปในตัวเมือง แต่สิ่งที่กังวล คือเด็กเล็กๆ และผู้สูงอายุ ที่เข้าไปเดินในตลาด รวมถึงบางส่วนที่ต้องไปใช้ชีวิตในตลาด นั่งๆนอนๆอยู่ที่แผงค้า นอนรอพ่อแม่ค้าขายจนกว่าตลาดจะปิด ตรงนี้ก็น่าห่วง หากเลี่ยงได้ควรเลี่ยง หรือมีการจัดการป้องกันที่ดีพอ นอกจากนี้ยังสังเกตเห็น ผู้ค้าหลายราย ไม่ได้ใส่หน้ากากตลอดเวลา บางคนเอามาไว้ที่คางบ้าง จากการสอบถามแม่ค้าบอกว่า ใส่ตลอดเวลาไม่ไหว เพราะอาการร้อน ซึ่งในความจริงการสวมหน้ากากก็ต้องมีระยะเวลาถอดออกเช่นกัน ไม่สามารถสวมเป็นเวลานานๆได้ ก็อยากให้เข้าใจข้อจำกัดของพ่อค้าแม่ค้าด้วย แต่อย่างไรเสียเมื่ออยู่ระหว่างการค้าขายก็ควรสวมหน้ากากไว้เป็นดีที่สุด

นางสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ช่วงนี้มีแม่ค้าหลายรายเลือกนำสินค้ามาวางขายข้างตลาด ริมถนน เนื่องจากแบกรับค่าเช่าที่ไม่ไหว อีกทั้งเขายังเป็นกลุ่มเสี่ยงในการให้บริการประชาชนที่มาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งอยากเสนอให้กรมอนามัย ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข ตรวจโควิด-19 ให้กับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดทุกรายฟรี เพื่อสร้างความปลอดภัยและคุณภาพของตลาด หากทำได้จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายนอกจากนี้ ตลาดควรมีนโยบายสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของชุมชน มีการขยายพื้นที่ให้เขาได้ทำมาหากิน ได้นำสินค้าปลอดภัย ผักอินทรีย์ สินค้าท้องถิ่นมาขาย เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามนี้

ด้าน นายเจกะพันธ์ พรมมงคล ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคใต้ กล่าวว่า หลังจากที่ตลาดนาชุม ต.โพธิ์เสด็จ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช มีมาตรการออกมาป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลายอย่าง ก็ทำให้ได้รับความร่วมมือจากแม่ค้าพ่อค้าเป็นอย่างดี ส่วนผู้มาใช้บริการจับจ่ายใช้สอยก็เพิ่มขึ้น เพราะมั่นใจในความปลอดภัย สร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภค ซึ่งหัวใจสำคัญของตลาด คือ การล้างมือ การรักษาระยะห่าง การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เสียงตามสาย ทำให้ตลาดแห่งนี้กระแสตอบรับดีมาก อีกอย่างการมีส่วนร่วม การประชุมหารือกันของทุกฝ่ายเพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกัน ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ เมื่อเกิดความเข้าใจ ความร่วมมือจะตามมา ตอนนี้ทางเครือข่ายฯ ได้ร่วมกับเยาวชนจากวิทยาลัยเทคนิคสิชล ในการออกแบบอ่างล้างมือเท้าเหยียบขึ้นมาอีกโมเดลหนึ่ง ได้ผลิตและนำไปมอบให้ตลาดในจังหวัดต่างๆแล้วกว่า 30 แห่ง และมีแนวโน้มที่ตลาดแต่ละแห่งจะมีการผลิตอ่างล้างมือแบบนี้เพิ่มเติมให้เพียงพอ รวมไปถึงสถานที่อื่นก็เริ่มให้ความสนใจเช่น วัด สวนสาธารณะ ศูนย์เด็กเล็ก ฯลฯ เพื่อทำให้เกิดการล้างมือให้เป็นนิสัย หลีกเลี่ยงการสัมผัส