พม.-พอช.-เครือข่ายองค์กรชุมชนสู้ภัยโควิดทำครัวกลางและธนาคารอาหาร ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในกรุงเทพฯ และคนไร้บ้าน-ข้าว 1 แสนกล่อง

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ / กระทรวง พม.พอช.เครือข่ายองค์กรชุมชนสู้ภัยโควิด-19 ระดมทุนจัดทำครัวกลางและธนาคารอาหารชุมชนช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ โดยทำอาหารกล่องแจกพี่น้องชุมชนในกรุงเทพฯ ระยะแรกภายในเดือนพฤษภาคมนี้ รวม 208 ชุมชน และศูนย์คนไร้บ้าน 4 แห่ง เป้าหมาย 1 แสนกล่อง โดยภาคเอกชนร่วมสมทบการจัดทำครัวกลาง นอกจากนี้ในวันที่ 8 พ.ค.นี้  รมว.พม.จะรับมอบข้าวสาร อาหาร ฯลฯ เพื่อส่งต่อให้ชุมชน ขณะที่สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางส่งเสริมปลูกผักครัวเรือนและใช้พื้นที่ส่วนกลางผลิตอาหารเพื่อสร้างความมั่นคงในระยะยาว 

แม้ว่าในขณะนี้รัฐบาลจะมีมาตรการผ่อนปรนต่างๆ เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจยังแพร่กระจายไปทั่ว ทำให้พี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศได้รับความยากลำบาก เนื่องจากมีรายได้ลดลง ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องตกงาน ทำให้ขาดแคลนรายได้ที่จะมาซื้ออาหาร หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายองค์กรชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศจึงร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

เปิด ครัวกลางและธนาคารอาหารชุมชน

โดยล่าสุด เครือข่ายองค์กรชุมชนสู้ภัยโควิด-19’ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของพี่น้องเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศได้จัดทำโครงการ ครัวกลางและธนาคารอาหารชุมชนขึ้นมา โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดตั้งครัวกลางเพื่อผลิตข้าวหรืออาหารกล่องแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมาย (ระยะแรก) ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ จำนวน 103,000 กล่อง ให้แก่ประชาชนในชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ จำนวน 15 เขต 208 ชุมชน โดยมีครัวกลางที่ผลิตอาหารจำนวน 19 จุดทั่วกรุงเทพฯ

ส่วนชุมชนที่จะทำครัวกลางและแจกจ่ายอาหารใน 15 เขต คือ เขตบางบอน ภาษีเจริญ หนองแขม บางขุนเทียน บางซื่อ บางพลัด บางกอกน้อย วังทองหลาง บางกะปิ ประเวศ คลองเตย สาธร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สายไหม และบางนา นอกจากนี้ยังจัดทำครัวกลางที่ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านในต่างจังหวัด คือ กรุงเทพฯ (ศูนย์สุวิทย์ วัดหนู) ศูนย์คนไร้บ้าน จ.ปทุมธานี บ้านเตื่อมฝัน จ.เชียงใหม่ และบ้านโฮมแสนสุข จ.ขอนแก่น เพื่อแจกจ่ายอาหารให้แก่ผู้ที่พักพิงในศูนย์คนไร้บ้านและนอกศูนย์ประมาณ 500 คน

ทั้งนี้งบประมาณในการจัดทำครัวกลางมาจากการสมทบของชาวชุมชน และกองทุนต่างๆ ที่ชุมชนแต่ละแห่งมีอยู่ เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน สหรณ์เคหสถานบ้านมั่นคง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมาจากการบริจาคของภาคเอกชน รวมทั้งงบประมาณจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จะสนับสนุนงบประมาณโครงการละไม่เกิน 300,000 บาท

รวมน้ำใจสู้ภัยโควิด

นอกจากนี้ในวันนี้ (7 พฤษภาคม) มีการจัดงาน เครือข่ายบ้านมั่นคง เครือข่ายองค์กรชุมชนตำบล ตื่นรู้ สู้ภัยโควิด-19’ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ มีเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการครัวกลาง และรับมอบสิ่งของสนับสนุนให้แก่เครือข่ายองค์กรชุมชนสู้ภัยโควิด-19 โดยกลุ่มนิสิตเก่า น้องใหม่จุฬาฯ รุ่น 2514  มอบข้าวสารและเงิน รวม 331,000 บาท โครงการปันกันกิน โดยเครือข่ายเพื่อนปลูกเพื่อนกินมอบข้าวสารหอมมะลิอินทรีย์ จำนวน 3,500 กิโลกรัม บริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด มอบแอลกอฮอล์จำนวน 600 ลิตร

นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า สถาบันฯ เป็นเครื่องมือที่สำคัญของขบวนองค์กรชุมชน เพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองและช่วยเหลือกันได้ นอกจากนี้สถาบันฯ ยังเป็นสะพาน สร้างระบบเชื่อมต่อระหว่างขบวนองค์กรชุมชน หน่วยงานรัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ จัดทำครัวกลางขึ้นมาจำนวน 208 ชุมชน โดยมีหน่วยงานรัฐและเอกชนร่วมสนับสนุน ถือเป็นมิติใหม่และเป็นทางออกของสังคมในการช่วยเหลือแบ่งปันกัน

นางสาวสมสุข บัญญะบัญชา ประธานคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า โครงการบ้านมั่นคงเป็นโครงการที่ชุมชน ชาวบ้านผู้เดือดร้อนร่วมกันสำรวจข้อมูลเพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย โดยชาวบ้านเป็นเจ้าของโครงการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนงบประมาณและความรู้ ทำให้ชาวชุมชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และไม่ได้ทำเฉพาะเรื่องบ้านและที่ดินเท่านั้น แต่ยังทำเรื่องอื่นๆ เช่น สวัสดิการชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิต และทำร่วมกันทั้งเมือง

“เมื่อเกิดปัญหาโควิด  เราจึงแปลงงบประมาณบ้านมั่นคงบางส่วนมาทำเรื่องนี้ (โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบท) เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในช่วงนี้ และจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาระยะยาว รวมทั้งปัญหาเรื่องอื่นๆ ต่อไป  โดยใช้เรื่องโควิดเป็นเครื่องมือ” นางสาวสมสุขกล่าว

นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์  อดีตผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และตัวแทน กลุ่มนิสิตเก่า น้องใหม่จุฬาฯ รุ่น 2514’ กล่าวว่า กลุ่มนิสิตเก่าฯ มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสังคมตั้งแต่ปีที่แล้ว เช่น การทำฝายชะลอน้ำ มอบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ จักรยาน อาหาร ฯลฯ ให้แก่เด็กและชุมชนในชนบทที่ขาดแคลน ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิดนี้ กลุ่มได้เปิดรับบริจาคเพื่อสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลในชนบทที่ขาดแคลน รวมทั้งการสนับสนุนการจัดทำครัวกลางของเครือข่ายองค์กรชุมชนสู้ภัยโควิด-19 ในครั้งนี้ด้วย เพื่อให้เครือข่ายองค์กรชุมชนบริหารจัดการกันเองให้ตรงกับความต้องการของชุมชน และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาระยะยาว เช่น การใช้พื้นที่ในชุมชนปลูกผักเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม นอกจากการจัดงานที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ แล้ว ในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ จะมีโครงการ เปิดครัวกลาง พม. เราไม่ทิ้งกัน ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เขตป้อมปรามศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ โดยมีนายจุติ ไกรฤกษ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. เป็นประธาน ภายในงานจะมีพิธีรับมอบข้าวสาร เงิน และสิ่งของบริจาคเพื่อจัดทำครัวกลาง 38 แห่งให้แก่ชุมชนในกรุงเทพฯ โดยมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นผู้มอบ เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มอบงบประมาณสนับสนุนครัวกลาง ตัวแทนเครือข่ายชาวนาจังหวัดยโสธร มอบข้าวสาร 3.5 ตัน บริษัท TESCO Lotus และบริษัทเจริญโภคภัณฑ์จำกัดมหาชนมอบผักสด ไก่  ข้าวกล่อง ฯลฯ

ทั้งนี้หน่วยงานและบุคคลที่จะสมทบเงิน อาหารสด-แห้ง เพื่อใช้จัดทำครัวกลาง หรือสิ่งของเพื่อป้องกันไวรัส COVID ได้ที่ ธนาคารกรุงไทย บัญชีเลขที่ 095-0-23881-3 ชื่อบัญชี เครือข่ายองค์กรชุมชนสู้ภัยโควิด

สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง 20 ชุมชนสร้างแหล่งอาหารระยาว

นุชจรี พันธ์โสม เลขานุการสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง กล่าวว่า สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง มีสมาชิก 20 ชุมชน ชุมชนตั้งอยู่ในย่านวัดเทพลีลา จำนวน 5,294 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 27,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย หาเช้ากินค่ำ มีอาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ลูกจ้างร้านอาหาร ผับ บาร์ และรับจ้างทั่วไป ได้รับผลกระทบเนื่องจากถูกเลิกจ้าง พักงาน หรือมีรายได้ลดลง

สภาองค์กรชุมชนฯ จึงให้สมาชิกแต่ละชุมชนสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน พบผู้เดือดร้อนประมาณ 1,300 คน จึงจัดทำครัวกลางเพื่อช่วยเหลือเหลือพี่น้องที่เดือดร้อน โดยจัดทำข้าวกล่องแจกตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายนจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ ครั้งละ 400-500 กล่อง รวม 34 วัน ประมาณ 17,000 กล่อง ใช้งบประมาณจากกองทุนสวัสดิการชุมชน (กองทุนวันละบาทที่สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนเพื่อนำมาช่วยเหลือกัน ก่อตั้งในปี 2551 ปัจุบันมีเงินกองทุนประมาณ 3 ล้านบาท) และเงินสนับสนุนจากสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง ประมาณ 130,000 บาท

“การทำครัวกลางจะช่วยแก้ปัญหาได้เฉพาะหน้า แต่ไม่ยั่งยืน เราจึงคิดว่าชุมชนควรจะสร้างแหล่งอาหาร เพราะเรามีพื้นที่อยู่แล้วเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เนื้อที่ 400 ตารางวา เริ่มปลูกผักตั้งแต่เดือนมีนาคม มีผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง และเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์จำนวน 6 บ่อ เร็วๆ นี้จะนำมาทำอาหารได้ แต่ตอนนี้คงจะไม่เพียงพอ เพราะตอนแรกเราสำรวจพบว่ามีคนที่เดือดร้อนได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจประมาณ 1,300 คน แต่ตอนนี้เพิ่มมากขึ้นเป็น 2,000 คน ดังนั้นทุกครัวเรือนจะต้องมีแหล่งอาหาร คือ ปลูกผักกินเอง เลี้ยงปลา หรือเลี้ยงไก่” เลขาฯ สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางบอก

และขยายความว่า แม้จะมีพื้นที่เล็กน้อย แต่สามารถปลูกผักสวนครัวในกระถาง ตะกร้า หรือสวนแนวตั้ง ถ้าทำทุกครัวเรือนก็จะเพียงพอ ถ้าขาดเหลือ เช่น มีผัก ไม่มีน้ำมันจะผัดก็มาเอาที่ส่วนกลางเรามีให้ โดยสภาฯ จะแจกเมล็ดพันธุ์ให้ทุกครัวเรือนไปปลูก เช่น ถั่วงอก ทานตะวัน ใช้เวลาประมาณ 7 วันก็นำมาทำอาหารกินได้

นอกจากนี้สภาฯ ยังมีแผนจะส่งเสริมเรื่องกลุ่มอาชีพเพื่อให้มีรายได้ เช่น เย็บผ้า ทำอาหาร เชื่อมโยงกับเครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองทั่วประเทศ ค้าขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้ากันทางออนไลน์ ส่วนในกรุงเทพฯ เรามีมอเตอร์ไซค์รับจ้างในชุมชนอยู่แล้ว สามารถใช้รับส่งสินค้าหรืออาหารได้ และจะสนับสนุนให้แต่ละครัวเรือนทำบัญชีรับ-จ่าย เพื่อให้รู้รายจ่ายที่ไม่จำเป็นและตัดออกไป