เอกชนขานรับ “ไทยแลนด์ 4.0”ดันเม็ดเงินลงทุนวิจัยและพัฒนาพุ่ง 1 แสนล้าน

“ดร.สมคิด” ย้ำประเทศไทยต้องเปลี่ยนผ่านด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รับมือตลาดแรงงานถูก         ลดบทบาท ยันรัฐเตรียมเดินหน้าคลอดนโยบายสนับสนุนเอกชนต่อเนื่อง ขณะที่ทาง สวทน. เปิดผลสำรวจด้านการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศ ปี 2560 พบเอกชนขานรับลงทุนเพิ่มขึ้น 39%

วันที่ 26 มี.ค.61 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน CEO Innovation Forum 2018 “Thailand Shifting Towards Science Technology and Innovation Frontier” ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พลิกโฉมประเทศไทยสู่ก้าวใหม่ของการพัฒนา” โดยระบุว่า ปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ก้าวเข้ามามีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เปรียบเสมือนเป็นปัจจัยที่ 5 ส่งผลให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เรามีนโยบาย Thailand 4.0 ที่ให้ความสำคัญไปกับการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งผลให้ที่ผ่านมาเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เช่น การเปลี่ยนรูปแบบวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตในอุตสาหกรรมการผลิตด้วย Advanced materials การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและการบริการ การเปลี่ยนโครงสร้างการจ้างงาน การพัฒนาคนให้มีทักษะใหม่ตลอดเวลาด้วย Advanced robotics และ AI การที่คนจะมีอายุยืนขึ้น

“ข้อมูลจาก World Economic Forum (WEF) ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลาง ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยเพียง 3-4% เท่านั้น และยังมีความท้าทายจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การลดลงของกำลังแรงงาน และข้อจำกัด ตลอดจนประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของประเทศ แต่จากความมุ่งมั่น ตั้งใจในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทำให้สภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นอย่างมาก จนเศรษฐกิจประเทศไทยขณะนี้พร้อมจะทะยานไปสู่โฉมหน้าใหม่ เป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ในระดับที่พัฒนาขึ้น และพร้อมเป็นศูนย์กลางการลงทุน การคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน โดยมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญต่อการทะยานในครั้งนี้” ดร.สมคิด กล่าว

อย่างไรก็ดี การก้าวไปสู่การพลิกโฉมประเทศ จำเป็นต้องมุ่งเน้นพัฒนากลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยรัฐบาลกำหนดแนวทางพัฒนาไว้ 5 กลุ่มหลัก อันได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มที่ 2 กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ กลุ่มที่ 3 กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกล ที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม กลุ่มที่ 4 กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว และกลุ่มที่ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง

ดร. สมคิด ยังกล่าวอีกว่า ทั้ง 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต” และล่าสุดรัฐบาลได้กำหนดให้เพิ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเข้ามาในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตด้วย ขณะเดียวกันกระทรวงวิทยาศาสตร์ก็กำลังขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญหลายๆ ประการ เช่น โครงการ Big rock คาราวานวิทยาศาสตร์ การผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม การขจัดอุปสรรคการทำธุรกิจนวัตกรรม หรือ Ease of Doing Innovation Business (EDIB) เพื่อมุ่งหวังให้ภาคเอกชนและประชาชนได้ใช้ประโยชน์ พร้อมพลิกโฉมประเทศไทยไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งเป็นก้าวใหม่ในการพัฒนาประเทศ

ด้าน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศบนพื้นฐานของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการขับเคลื่อนองค์กรนวัตกรรม ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าภาคเอกชนของไทยมีความตื่นตัวและมีการลงทุนในการวิจัยและนวัตกรรมมากขึ้นทุกปี จะเห็นได้จากผลของการสำรวจการวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม ประจำปี 2560

สำหรับการจัดงาน CEO Innovation Forum 2018 ในครั้งนี้ จึงมุ่งหวังเพื่อเป็นเวทีให้หน่วยงานภาคเอกชนได้รับทราบถึงสถานการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศไทยจากผลสืบเนื่องของนโยบาย มาตรการของรัฐบาล รวมทั้งได้เสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มและกระแสความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยในอนาคต เพื่อรับมือกับความท้าทาย และนำพาประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม-แห่งชาติ (สวทน.) เผยถึง ผลการสำรวจการวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม รอบการสำรวจประจำปี 2560 พบว่า มูลค่าการลงทุนมีมากกว่า 100,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 0.78 ของ GDP โดยภาคเอกชนไทยมีค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนารวมทั้งประเทศประมาณ 80,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 3 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาของทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจากรอบการสำรวจประจำปี 2559 ถึงร้อยละ 39 นับเป็นการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายและมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา และเชื่อมั่นว่าในปี 2561 จะมีมูลค่าการลงทุนถึงร้อยละ 1 ของ GDP หรือประมาณ 160,000 ล้านบาท

“จากการสำรวจ พบว่า การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมการผลิตสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีการลงทุนสูงถึง 15,051 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาสูตรอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อให้สอดคล้องตามความต้องการและพฤติกรรมการบริโภคที่ปรับเปลี่ยนไป รองลงมาคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีการลงทุน 11,879 ล้านบาท ในการวิจัยและพัฒนาด้านการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตใหม่ การพัฒนาชิ้นส่วนรถตัวใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทแม่ และเพื่อลดต้นทุนด้านการผลิต และอันดับ 3 คือ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ที่มีการลงทุน 9,251 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนด้านการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน และการพัฒนาสินค้าใหม่ เช่น สูตรน้ำมันหล่อลื่นใหม่ เป็นต้น ด้านภาคบริการที่มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสูงสุด ในปี 2559 คือ บริการทางการเงินและประกันภัย มีการลงทุนสูงถึง 4,891 ล้านบาท มาจากวิจัยและพัฒนาปรับปรุงการบริการใหม่ การพัฒนา Fintech เพื่อนำมาใช้พัฒนาการบริการด้านการเงินให้ทันสมัยและตอบสนองความต้องการผู้บริโภค เช่น โปรแกรม Streaming และ e-payment เป็นต้น รองลงมาคือ การบริการวิจัยและพัฒนา ที่ลงทุนด้วยเม็ดเงิน 4,750 ล้านบาท และบริการไปรษณีย์และโทรคมนาคม ที่ลงทุน 1,983 ล้านบาท ผ่านการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยพัฒนา (Innovation Center) เพื่อให้พนักงานเสนอความคิดสร้างสรรค์ภายใต้บริบท “Internet of Things” และเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในการใช้ชีวิตในสังคมดิจิทัลมากขึ้น สำหรับภาคค้าปลีกค้าส่งที่ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูงสุด ในปี 2559 คือ ห้าง ร้านสะดวกซื้อ และร้านของชำ โดยมีการลงุทน 5,070 ล้านบาท จากการวิจัยและพัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าใหม่ และการปรับปรุงกระบวนการผลิตใหม่ ทั้งนี้ ในปี 2559 บริษัทไทยมีนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในบริษัทเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 78 โดยส่วนใหญ่เป็นนวัตกรรมทางการตลาด และนวัตกรรมองค์กร” ดร.กิติพงค์ กล่าว