‘รมช.พาณิชย์’ เดินทางเยือนสหรัฐฯ ร่วมหารือแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า และเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างไทย-สหรัฐฯ สานต่อความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานกว่า 200 ปี พร้อมย้ำให้สหรัฐฯ ยกเว้นการใช้มาตรการทางการค้า ที่กระทบต่อการส่งออกของไทย
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 24 – 27 กรกฎาคม 2561 เพื่อหารือกับผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐฯ เรื่องปัญหาอุปสรรคทางการค้า การขยายความร่วมมือการค้าการลงทุน ในฐานะมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนานกว่า 200 ปี ซึ่งสหรัฐฯ พร้อมร่วมมือเดินหน้าทำงานกับไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า และเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน
นางสาวชุติมา กล่าวว่า การเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้ ได้พบหารือกับผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐฯ อาทิ รองผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (Ambassador Jeffrey D. Gerrish) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (Honorable Gilbert B. Kaplan) เรื่องข้อกังวลต่อการใช้มาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เช่น การที่สหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรา 232 ขึ้นภาษีสินค้าเหล็กและอลูมิเนียมจากทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้สินค้าเหล็กและอลูมิเนียมของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ถูกเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 25 และร้อยละ 10 ตามลำดับ จึงได้มาติดตามเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ของไทยได้เคยหยิบยกขึ้นหารือกับสหรัฐฯ ผ่านทางหนังสือของรัฐมนตรีว่าการฯ และการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (TIFA JC) เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา โดยการหารือครั้งนี้ ไทยได้ย้ำขอให้สหรัฐฯ ยกเว้นการใช้มาตรการดังกล่าวกับไทย เนื่องจากสินค้าเหล็กและอลูมิเนียมของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ มีสัดส่วนน้อยมาก ไม่ถึงร้อยละ 1 ในตลาดสหรัฐฯ จึงไม่น่าส่งผลเสียหายต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญของการใช้มาตรการ อีกทั้งไทยยังได้ร่วมมือกับอาเซียนหารือกับจีน เพื่อให้ลดการผลิตเหล็กส่วนเกินไม่ให้ล้นตลาดโลก ตลอดจนไทยได้เพิ่มความเข้มงวดในการดูแลป้องกัน ไม่ให้เกิดการแอบอ้างนำสินค้าเหล็กและอลูมิเนียมจากแหล่งอื่นมาสวมสิทธิ์ว่าเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากไทย
นอกจากนี้ ไทยยังได้แสดงความกังวลต่อการเปิดไต่สวนมาตรา 232 ของสหรัฐฯ ในสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน โดยได้ขอให้สหรัฐฯ พิจารณาถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อทั้งสองประเทศ เนื่องจากการสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นห่วงโซ่ หรือองค์ประกอบที่สำคัญในอุตสาหกรรมต่อเนื่องของสหรัฐฯ โดยไทยพร้อมหารือ และร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและหาทางออกร่วมกันต่อไป ซึ่งสหรัฐฯ รับที่จะนำข้อห่วงกังวลของไทยไปพิจารณา และเห็นพ้องว่า ทั้งสองฝ่ายควรจะหารือต่อเนื่องเพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป
นางสาวชุติมา กล่าวต่อว่า ไทยยังใช้โอกาสนี้หารือกับสหรัฐฯ เรื่องการปฏิรูประบบการค้าพหุภาคีขององค์การการค้าโลก (WTO) และปัญหาที่เกิดขึ้นกับกระบวนการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ของ WTO ที่ปัจจุบัน 3 ใน 7 ตำแหน่งขององค์กรอุทธรณ์ได้ครบวาระและว่างลง จึงต้องเร่งสรรหาเพื่อให้กระบวนการตัดสินคดีอุทธรณ์หรือระงับข้อพิพาทใน WTO เดินหน้าต่อไปได้ ไม่ชะงักงัน ซึ่งสหรัฐฯ ยินดีหากไทยจะมีข้อเสนอแนะเพื่อร่วมกันหาทางออกในเรื่องนี้
นางสาวชุติมา กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยยังได้หารือกับสหรัฐฯ เรื่องที่สมาพันธ์สหภาพแรงงานสหรัฐฯ และสมาคมผู้ผลิตสุกรสหรัฐฯ ได้ยื่นขอให้สหรัฐฯ ทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) แก่ไทย โดยอ้างว่าไทยไม่ได้คุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และมีการกีดกันเนื้อสุกรของสหรัฐฯ ซึ่งไทยได้แจ้งสหรัฐฯ ว่าหน่วยงานของไทยทั้งภาครัฐ ตัวแทนนายจ้าง และลูกจ้าง อยู่ระหว่างหารือเพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ และร่าง พ.ร.บ. รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เพื่อให้ครอบคลุมสถานการณ์ด้านแรงงานในปัจจุบัน และสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งคาด พ.ร.บ. ที่ปรับปรุงใหม่น่าจะมีผลใช้บังคับได้ภายในปี 2561 ส่วนกรณีเนื้อสุกร เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้บริโภค ไม่ใช่เรื่องการกีดกันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม จึงควรร่วมกันหาออกที่เหมาะสม โดยมีพื้นฐานและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ ซึ่งสหรัฐฯ รับฟังและจะหารือกับไทยเพื่อแลกเปลี่ยนความคืบหน้าเป็นระยะต่อไป
นางสาวชุติมา กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากการหารือกับภาครัฐของสหรัฐฯ ยังได้มีโอกาสหารือกับบริษัทชั้นนำในสหรัฐฯ ที่มีการนำเข้าสินค้าจากไทย ทั้งในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร เหล็ก ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและโอกาสทางการค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ รวมทั้งการผลักดันให้สหรัฐฯ ยกเลิกการใช้มาตรการ 232 กับไทย และคงสิทธิ GSP แก่ไทยต่อไป
ทั้งนี้ ในปี 2560 สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 3 ของไทย รองจากจีน และญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวม 41,400.82 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 13.30 โดยไทยส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 26,536.64 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องนุ่งห่ม ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 14,864.18 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ น้ำมันดิบ อุปกรณ์ยานยนต์ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ ไทยเป็นประเทศที่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษี หรือ GSP จากสหรัฐฯ เป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย โดยในปี 2560 ไทยใช้สิทธิ GSP จากสหรัฐฯ เป็นมูลค่าประมาณ 4,150.59 ล้านเหรียญสหรัฐ ในสินค้า เช่น ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องยนต์รถยนต์ เครื่องดื่มอื่นๆ ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (น้ำมะพร้าว) เครื่องซักผ้า เครื่องสูบเชื้อเพลิง หม้อแปลงไฟฟ้า ถุงมือทำจากยาง และอาหารปรุงแต่ง เป็นต้น
————————————
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์