กระทรวงเกษตรฯ รายงานสถานการณ์น้ำ ประจำวันที่ 15 เม.ย. 63

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 เม.ย. 63) ว่า สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 36,864 ล้าน ลบ.ม. (49% ของความจุอ่างฯ) ปริมาณน้ำใช้การได้ 13,168 ล้าน ลบ.ม. (25% ของความจุน้ำใช้การ) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% ของความจุอ่าง จำนวน 24 แห่ง คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แม่งัดสมบูรณ์ชล แม่กวงอุดมธารา กิ่วคอหมา แควน้อยบำรุงแดน แม่มอก ห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแชะ ลำนางรอง สิรินธร ป่าสักชลสิทธิ์ ทับเสลา กระเสียว ขุนด่านปราการชล คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล และประแสร์

สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) ปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 8,974 ล้าน ลบ.ม. (36% ของความจุอ่างฯ) เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 2,278 ล้าน ลบ.ม. (13% ของความจุน้ำใช้การ) ส่วนผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศ แผนการจัดสรรน้ำ 17,699 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 15,552 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 88 และเจ้าพระยา แผนการจัดสรรน้ำ 4,500 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 4176 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 93 สำหรับแผน-ผลการเพาะปลูกข้าวนาปรังปี 2562/63 ในเขตชลประทาน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 เม.ย. 63) ทั้งประเทศ แผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 4.20 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 182.01 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้ว 2.28 ล้านไร่ และลุ่มน้ำเจ้าพระยา แผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง – ล้านไร่ (รณรงค์งดทำนาต่อเนื่องฤดูแล้ง ปี 2562/63) เพาะปลูกแล้ว 1.98 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.68 ล้านไร่

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานยังมีการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือของศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้งฯ ในด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย 1) คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชลประทานเขื่อนแม่กวง (JMC) มีมติปรับรอบเวรการส่งน้ำในรอบเวรที่ 4 ช่วงเดือนเมษายน 2563 เพื่อส่งน้ำช่วยเหลือสวนลำไยและพืชสวนในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝน 2) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเสียวใหญ่ สำนักงานชลประทานที่ 6 ลงพื้นที่ฝายยางบ้านเมืองบัว ตำบลเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อตรวจและติดตามสถานการณ์น้ำในลำเสียวใหญ่ พร้อมวางแผนสูบน้ำให้กับการประปาส่วนภูมิภาค เพื่อการสูบน้ำกักเก็บเป็นน้ำดิบสำรองใช้ในการผลิตน้ำประปา ส่งให้ราษฎรในพื้นที่ตำบลเมืองบัวและเทศบาลตำบลเกษตรวิสัย ให้มีน้ำอุปโภค-บริโภคอย่างพอเพียงจนถึงสิ้นฤดูแล้ง 3) โครงการชลประทานนครราชสีมา สำนักงานชลประทานที่ 8 ลงพื้นที่นำรถบรรทุกน้ำออกแจกจ่ายน้ำอุปโภค-บริโภค เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ตำบลด่านใน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา 4) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช สำนักงานชลประทานที่ 10 ลงพื้นที่ติดตามการให้ความช่วยเหลือสวนพุทราที่ประสบภัยแล้ง พร้อมลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานของโครงการแก้มลิงคลองระบาย 1 ซ้าย พร้อมอาคารประกอบ ตำบลบางงา อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี แก้มลิงห้วยกระทุ่ม ตำบลสี่คลอง อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี และแก้มลิงหนองห้วยทราย ตำบลบ้านเบิก อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี 5) โครงการชลประทานลพบุรี สำนักงานชลประทานที่ 10 ดำเนินการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภค-บริโภค ไม้ผล และรักษาระบบนิเวศ ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 12 เครื่อง เพื่อสูบน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก เติมแม่น้ำบางขามและแม่น้ำลพบุรี

ช่วยเหลือพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอบ้านหมี่ และอำเภอท่าวุ้ง รวม 13 ตำบล 6) สำนักงานชลประทานที่ 17 ลงพื้นที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดท่อ 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง สูบน้ำเพื่อเพิ่มระดับน้ำในคลองปาเสมัส ณ บ้านน้ำตก หมู่ที่ 1 ตำบลปาเสมัส อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส แก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ และ 7) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา สำนักงานชลประทานที่ 12 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง ที่หมู่ 2 ต.วังยาง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เพื่อสูบน้ำช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ในเขตพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา