เตาชีวมวลแบบซุปเปอร์อั้งโล่(พลังงานชีวมวล)

เตาซุปเปอร์อั้งโล่  หรือเตาหุงต้มประสิทธิภาพสูง เกิดขึ้นจากการพัฒนา “เตาอั้งโล่” ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปให้มีลักษณะรูปร่างเพรียว น้ำหนักเบาขึ้น เพื่อสะดวกในการขนย้าย โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ยสูงกว่าเตาอั้งโล่แบบธรรมดานาน 2 ปี มีคุณสมบัติในการประหยัดถ่าน เนื่องจากช่องใส่ถ่านสามารถบรรจุถ่านได้ 100-500 กรัม ซึ่งพอเพียงต่อการทำอาหารในแต่ละมื้อโดยไม่ต้องเพิ่มถ่าน เส้าเตาถูกออกแบบให้สูญเสียความร้อนขณะหุงต้มน้อยกว่าเตาทั่วไป ประกอบกับรังผึ้งที่มีความหนาทนทาน รูรังผึ้งเล็กและเรียว สามารถดูดอากาศได้ดี ทำให้เตามีความร้อนสูงถึง 1,000-1,200 องศาเซลเซียส และปากเตามีลักษณะลาดเอียงลงสู่ด้านในทำให้สามารถวางหม้อต้มได้ 9 ขนาด (หม้อเบอร์ 16-32) มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงได้อย่างสมบูรณ์ปราศจากควันพิษที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้

วัสดุอุปกรณ์

1.แม่แบบพิมพ์ภายใน           2.แม่แบบพิมพ์ภายนอก

3.แม่แบบพิมพ์รังผึ้ง              4.แผ่นโลหะ

5.แท่งเจาะรูรังผึ้ง                   6.แท่งตกแต่งรูรังผึ้ง

7.มีดตกแต่งเตา                     8.เครื่องมือผสมส่วนผสมในการทำเตา

9.เกรียง                                  10.โคลน

11.ขี้เถ้าดำ(ได้มาจากการเผาฟางข้าว)              12.ขี้เถ้าขาว

13.ดินเชื้อ/ดินเหนียวผสมแกลบที่เผาไฟแล้ว(อิฐ)             14.ถังโลหะ

15.ปูนซีเมนต์

การเตรียมดิน

เตรียมดินเหนียว

โดยทั่วไปนิยมใช้ดินเหนียวสีเทาเข้ม เลือกและคดเอาเศษไม้ออกให้สะอาด(ถ้าเป็นก้อนใหญ่ก็ควรทุบให้ย่อยเป็นก้อนเล็ก)

หมักดิน

ตากดินให้แห้งอย่างน้อย 1 วัน แล้วนำลงบ่อหมัก แช่ไว้ในน้ำประมาณ 12-24 ชั่วโมง จนดินอิ่มน้ำอย่างทั่วถึง

นวดและผสมดิน

นำดินที่หมักแล้วมานวดผสมกับแกลบดำในอัตราส่วนดินเหนียว 2 ส่วนต่อขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน นวดจนเข้ากัน (ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องนวดดิน เพื่อความสะดวกในการผสมที่ดีกว่า) ขณะนวดผสมดินให้พรมน้ำเป็นระยะ ๆ เพื่อให้นวดง่ายขึ้น ส่วนผสมที่เข้ากันดีแล้ว ให้แบ่งเป็นก้อน ๆ ขนาดพอเหมที่จะทำเตา แล้วปิดด้วยพลาสติกเพื่อไม่ให้ดินผสมแห้งเกินไป

การปั้นเตา

  • ขึ้นรูปเตานำดินที่หมักแล้วมาขึ้นรูปกับแม่พิมพ์ภายนอกซึ่งวางอยู่บนแท่น แล้วใช้มือตบปั้นขึ้นรูปเป็รทรงของเตาโดยให้มีความหนาและขนาดตามต้องการ แล้วตกแต่งผิวเตา ได้แก่ ห้องใต้รังผึ้ง ห้องเผาไหม้ให้เรียบร้อย แล้วอัดทับด้วยแม่พิมพ์ภายในเพื่อขึ้นรูปปากเตา และเส้าเตา
  • ตกแต่งถอดแบบนำเตาไปตากแดด ผึ่งลมให้แห้งหมาด ๆ ประมาณ 2-3 วัน แล้วนำเตามาปาดตกแต่งปากเตาเส้าเตา แล้วเจาะช่องลม แล้วนำไปตากแดด ผึ่งลมจนแห้งสนิท ใช้เวลา 2-4 วัน จะได้เตที่พร้อมจะนำไปเผา

การปั้นรังผึ้ง

  • ขึ้นรูปนำดินที่นวดแล้วใส่ลงในแบบพิมพ์ทรงกระบอก ใช้มือกดดินให้เต็มแบบ ใช้โลหะบางปาดเอาดินส่วนเกินออก ทิ้งไว้ให้แห้งพอหมาด ๆ 2-3 วัน
  • เจาะรูใช้อุปกรณ์สำหรับเจาะรูรังผึ้ง เจาะรูตามแบบที่ต้องการ โดยรูรังผึ้งจะต้องเป็นทรงกรวยคว่ำ ด้านบนเล็กกว่าด้านล่าง จากนั้นนำไปผึ่งลมอีก 2-4 วัน แล้วนำไปเผาจนสุก

การประกอบเตาและตกแต่ง

  • นำเตาใส่ถัง เจาะช่องถังเตาให้ตรงกับช่องไปของเตา ยกเตาลงถัง เอาดินเหนียวผสมกับขี้เถ้าแกลบ(ดินเหนียว 1 ส่วน ขี้เถ้า 10 ส่วน) ใส่ลงด้านข้างเตาแล้วอัดให้แน่น ที่ขอบเตาติดกับถังสังกะสี ใช้ปูนซีเมนต์ 1 ส่วน ผสมทรายละเอียดร่อน 1 ส่วน ยาที่ขอบเตา และขอบช่องไฟหน้าเตา
  • ใส่รังผึ้งและยาฉนวน วางรังผึ้งให้ได้ระดับในตัวเตา แล้วนำดินที่ผสมไว้(โดยใช้ดินเหนียว 1 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 5 ส่วน) ย่ำให้เข้ากันดีแล้วยาภายในเตารอบ ๆ บริเวณที่รังผึ้งสัมผัสกับผนังเตาทั้งด้านลนและล่าง

ความแตกต่างระหว่างเตาหุงต้มทั่วไปกับเตาซุปเปอร์อั้งโล่

เตาท้องตลาด                                                             เตาประสิทธิภาพ

-รูปแบบถ่ายทอดมาแต่โบราณเทอะทะ                           -ออกแบบถูกต้องตามหลักวิชาการเพรียวเคลื่อนย้ายสะดวก

-วางหม้อได้น้อย(1-2 ขนาด)                                           -วางหม้อได้ 9 ขนาด เบอร์ 16-32

-เส้าเตาสูงและขอบเตาเว้ามากสูญเสียความร้อนมาก       -เส้าเตาสูงกว่าขอบเตาเล็กน้อยและขอบเตาเสมอกันโดยรอบสูญเสียความร้อนน้อย

-ช่องบรรจุถ่านใหญ่ ต้องใส่ถ่านมากเกินความจำเป็น         -ช่องบรรจุถ่านเล็ก บรรจุได้ 400-500 กรัม พอเหมาะต่อ 1 มื้อ

-รังผึ้งบางชำรุดง่าย                                                           -รังผึ้งหนาและทนทาน

-รูรังผึ้งใหญ่ดูดอากาศได้ไม่ดี                                            -รูรังผึ้งเล็กเรียว และดูดอากาศได้ดี

-ไม่มีฉนวนกันความร้อนหรือมีแต่บางเก็บความร้อนได้ไม่ดี -มีฉนวนกันความร้อนได้นาน

-ถังเปลือกเตาบาง ผุกร่อนเร็ว                                            -ถังเปลือกเตาหนา ผุกร่อนช้า

-ความร้อนต่ำ 500-600 องศาเซลเซียส                              -ความร้อนสูง 1,000-1,200 องศาเซลเซียส

-อายุการใช้สั้น(ประมาณ 1 ปี)                                            -สิ้นเปลืองถ่านน้อย ประหยัดถ่านได้ดี 30-40%

ขอบคุณที่มา โดยสำนักงานพลังงานจังหวัดนครปฐม กระทรวงพลังงาน