จากขั้วโลกใต้สู่ขั้วโลกเหนือ 2 นักวิจัยไทยร่วมเดินทางสู่อาร์กติก เตรียมดำน้ำเพื่องานวิจัยครั้งแรกของเอเชีย

กรุงเทพฯ – มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วย สถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ร่วมกันจัดงานแถลงข่าว การสำรวจวิจัยขั้วโลกเหนือครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์  กรรมการและเลขาธิการ  มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี คุณเวการ์ด โหล์เมลีด รักษาการแทนเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปมทอง  มาลากุล ณ อยุธยา  รองอธิการอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมงาน นอกจากนี้ยังมี  รองศาสตราจารย์ ดร. วรณพ วิยกาญจน์ และ รองศาสตราจารย์ ดร. สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 นักวิจัยไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมเดินทางกับทีมวิจัยสำรวจอาร์กติก เข้าร่วมงานแถลงข่าว โดยเป้าหมายหนึ่งของนักวิจัยคือการดำน้ำสำรวจใต้ทะเลอาร์กติก และนับเป็นนักวิจัย 2 คนแรกของทวีปเอเชียที่จะปฏิบัติภาระกิจดำน้ำเพื่องานวิจัยในทะเลขั้วโลกเหนือของนอร์เวย์

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์  กรรมการและเลขาธิการ  มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เคยเสด็จเยือนบริเวณอาร์กติก ในเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2556  หลังจากนั้น  ทรงพระราชดำริให้นักวิทยาศาสตร์ไทยขยายความร่วมมือในการศึกษาวิจัยขั้วโลก จากเขตแอนตาร์กติก (ขั้วโลกใต้) เข้าสู่เขตอาร์กติก (ขั้วโลกเหนือ) ภายใต้โครงการขั้วโลกตามพระราชดำริ  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  เพื่อยกระดับความก้าวหน้าของการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลกให้สูงขึ้นและทัดเทียมนานาประเทศ พร้อมเปิดโอกาสการส่งนักเรียนทุนรัฐบาลไปศึกษาเล่าเรียนในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการเสริมสร้างความยั่งยืนในงานศึกษาวิจัยขั้วโลกของประเทศ

คุณเวการ์ด โหล์เมลีด รักษาการแทนเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย  กล่าวถึงการลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการศึกษาวิจัยระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ University Centre in Svalbard (UNIS)
ณ วังสระปทุม เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2558  จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในการศึกษาวิจัยระหว่างประเทศไทยและนอร์เวย์ในเขตขั้วโลกเหนือ

คุณกรรณิการ์ เฉิน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่าการสนับสนุนของ อพวช. จะเป็นการสร้างความตระหนัก จิตสำนึก และความตื่นตัว ในผลของภาวะโลกร้อนและขยะทะเลที่มีต่อมหาสมุทรอาร์กติกและขั้วโลกเหนือให้กับประชาชนและเยาวชนไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปมทอง  มาลากุล ณ อยุธยา   รองอธิการอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง ความต่อเนื่องและการต่อยอดความสำคัญของงานวิจัยสู่สังคม  ในบทบาทของจุฬาฯ ในฐานะมหาวิทยาลัยแกนนำที่มีบุคลากรผ่านประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยในเขตขั้วโลกเป็นจำนวนมากที่สุด  และมีเครือข่ายต่างประเทศที่ร่วมทำการศึกษาวิจัยขั้วโลกมาก  การเดินทางไปศึกษาในครั้งนี้ของนักวิจัยและนิสิตปริญญาเอกจากจุฬาฯ ไม่เพียงแต่จะยกระดับการวิจัยและผลงานวิจัยในด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้สูงเท่าเทียมกับนานาชาติ  แต่ยังเป็นการสร้างความตระหนัก และจิตสำนึกให้เยาวชนและคนทั่วไปหันมาสนใจและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทะเลบนโลกใบนี้

รองศาสตราจารย์ ดร. วรณพ วิยกาญจน์   อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล   คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  “อาร์กติก” ถึงแม้จะเป็นแผ่นดินที่หนาวเหน็บ  และห่างไกลจากแผ่นดินอื่น แต่แท้จริงแล้ว บริเวณนี้มีความเชื่อมโยงกับมนุษย์เป็นอย่างมาก  เป็นพื้นที่อ่อนไหวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลก อาร์กติกเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดในการตรวจสอบปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกเนื่องจากในปัจจุบัน  บริเวณนี้กลายเป็น “ภาชนะรองรับของเสีย”  เป็นศูนย์รวมของผลลัพธ์จากกิจกรรมต่างๆ บนโลก โดยเฉพาะก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ และขยะทะเล  บริเวณนี้จึงเป็น “ปราการด่านแรก” ของโลกที่จะเป็นเสมือนระบบเตือนภัยล่วงหน้าให้แก่โลกของเราได้

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา  ชวนิชย์  อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเดินทางไปศึกษาวิจัยในครั้งนี้ จะเป็นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ ผลกระทบของภาวะโลกร้อนและขยะพลาสติกขนาดเล็กที่มีต่อสัตว์ทะเลหน้าดินที่ขั้วโลกเหนือ  โดยจะมีการปฎิบัติการดำน้ำสำรวจวิจัยใต้ทะเลครั้งแรกของเอเชีย นอกจากนี้  ยังเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะมีนักวิจัยที่ได้พิชิตการดำน้ำทั้งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้อีกด้วย

 

ข้อมูลเกี่ยวกับอาร์กติก

อาร์กติก หรือ ขั้วโลกเหนือ คือ บริเวณเหนือสุดของแกนโลกด้านเหนือ  คำว่า อาร์กติก มาจากภาษากรีกโบราณ  ซึ่งมีความหมายว่า หมี  บริเวณนี้  พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นมหาสมุทรที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งที่หนาเฉลี่ยประมาณ 4-5 เมตร  และล้อมรอบไปด้วยประเทศต่างๆ เช่น แคนาดา กรีนแลนด์ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา (อลาสก้า)  ไอซ์แลนด์  นอร์เวย์ สวีเดน  และฟินแลนด์

บริเวณอาร์กติกจะเป็นพื้นที่ที่แตกต่างจากที่อื่นอย่างเห็นได้ชัด  ผู้คนที่อาศัยอยู่ในอาร์กติกจะมีการปรับตัวและใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความหนาวเหน็บและธรรมชาติอันโหดร้าย  อุณหภูมิต่ำสุดที่วัดได้คือ-68 องศาเซลเซียส นอกจากนี้  ในปัจจุบัน อาร์กติกยังมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกของเรา เช่น อุณหภูมิบนโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ความอ่อนไหวได้ง่ายนี้ทำให้อาร์กติกถูกมองเสมือนเป็นระบบเตือนภัยล่วงหน้าให้แก่โลกของเรา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เคยเสด็จเยือนบริเวณอาร์กติก ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556  หลังจากนั้น  ทรงพระราชดำริให้นักวิทยาศาสตร์ไทยขยายความร่วมมือในการศึกษาวิจัยขั้วโลก จากเขตแอนตาร์กติก (ขั้วโลกใต้) เข้าสู่เขตอาร์กติก (ขั้วโลกเหนือ) ภายใต้โครงการขั้วโลกตามพระราชดำริ  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  เพื่อยกระดับความก้าวหน้าของการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลกให้สูงขึ้นและทัดเทียมนานาประเทศ พร้อมเปิดโอกาสการส่งนักเรียนทุนรัฐบาลไปศึกษาเล่าเรียนในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการเสริมสร้างความยั่งยืนในงานศึกษาวิจัยขั้วโลกของประเทศ

อาร์กติกกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

พวกเราส่วนมากคิดว่า การที่ “อาร์กติก” เป็นแผ่นดินที่หนาวเหน็บและห่างไกลจากแผ่นดินอื่น จึงเป็นบริเวณที่ไม่น่าจะมีความหมายต่อมนุษย์มากนัก  แต่แท้จริงแล้ว บริเวณนี้มีความเชื่อมโยงกับมนุษย์เป็นอย่างมาก  เป็นพื้นที่อ่อนไหวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลก ปัจจุบัน  ถึงแม้ว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” จะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ   แต่คงไม่มีใครในปัจจุบันที่จะปฏิเสธว่า สิ่งที่ปรากฏขณะนี้เป็นผลมาจากกิจกรรมของพวกเราที่ “เร่ง” ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วยิ่งขึ้น  อาร์กติกเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดในการตรวจสอบปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกเนื่องจากในปัจจุบัน  บริเวณนี้กลายเป็น “ภาชนะรองรับของเสีย”  เป็นศูนย์รวมของผลลัพธ์จากกิจกรรมต่างๆ บนโลก โดยเฉพาะก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ  บริเวณนี้จึงเป็น “ปราการด่านแรก” ของโลกที่จะเป็นเสมือนระบบเตือนภัยล่วงหน้าให้แก่โลกของเราได้

ปัจจุบัน บริเวณอาร์กติกได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างรุนแรง ทำให้น้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็ว  การละลายของน้ำแข็งนอกจากจะมีผลกระทบต่อสัตว์และพืชต่างๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณอาร์กติกแล้ว การละลายของน้ำแข็งในปริมาณที่มากยังทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอีกด้วย นักวิทยาศาสตร์ได้ทำนายไว้ว่า ถ้าในอนาคต น้ำแข็งที่อาร์กติกหรือขั้วโลกเหนือละลายหมดแล้ว จะสามารถทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นได้ถึง 5 เมตร

ดังนั้น การเข้ามามีส่วนร่วมในการหาคำตอบต่างๆ ของนักวิทยาศาสตร์ในบริเวณนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การตอบคำถามเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้น หรือทราบถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น  แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เกิดความเข้าใจในระบบของโลกได้ดียิ่งขึ้น และจะนำไปสู่การคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต  อันเป็นผลมาจากพฤติกรรมของมนุษย์เราในปัจจุบัน

###