สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : แมงลัก : ผักช่วยย่อย แก้ท้องผูก

แมงลัก : ผักช่วยย่อย แก้ท้องผูก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ocimum × citriodourum

วงศ์ : Labiatae

แมงลัก เป็นพืชล้มลุกอยู่ในสกุลเดียวกับกะเพราและโหระพา คือ Ocimum วงศ์ Labiatae จึงมีลักษณะคล้ายคลึงกันจนหลายคนอาจจะแยกไม่ออก  ชื่อสามัญเดิมเรียกกันว่า hoary basil (hoary แปลว่าผมหงอก) โดยนำมาจากลักษณะที่มีขนอ่อนสีขาวๆ บริเวณก้านใบและยอดอ่อน ต่อมาก็เปลี่ยนมาเรียกว่า lemon basil ตามลักษณะกลิ่นที่คล้ายส้ม-มะนาว ส่วนแมงลักศรแดงของไทยเรียกว่า Thai lemon basil. [1]  เมล็ดสีดำขนาดเหมือนเมล็ดงา เปลือกเมล็ดมีเยื่อพวก Polyuronide เมื่อแช่น้ำจะพองออกเป็นเมือกสีขาวหุ้มเมล็ดไว้ นิยมใช้ประกอบเครื่องดื่ม ของหวาน และช่วยคุมน้ำหนัก แมงลักมีน้ำมันหอมระเหยอยู่มากเช่นเดียวกับกะเพราะและโหระพา แต่มีกลิ่นเฉพาะตัว

เรื่องเล่า “แมงลัก” เป็นผักเป็นอาหาร

คนไทยแต่ก่อนคือว่าแมงลักเป็นผักชนิดหนึ่ง ดังเห็นจากหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบลัดเล พ.ศ.๒๔๑๖ คือ ๑๒๔ ปีมาแล้ว เขียนว่า “แมงลัก: คือ ต้นผักอย่างหนึ่ง, ใบมันกินเป็นกับข้าว, ลูกเมล็ดมันเขากินเป็นของหวานได้”

ในหนังสือประมวลสรรพคุณยาไทยฯ ของสมาคมโรงเรียนแพทย์แผนโบราณสำนักวัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) ได้กล่าวถึงแมงลักในฐานะผักว่า…“ใบใช้ปรุงเป็นผัก แกงเลียง น้ำยา กินเป็นอาหารมีปลูกกันตามบ้านเป็นสวนครัวทั่วไป”

จากข้อความในหนังสือที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า นิยมใช้ ใบ ของแมงลัก ในการปรุงอาหาร และเมนูยอดนิยมที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ แกงเลียง และ น้ำยา(ขนมจีน) นอกจากนี้ยังมีเมนูอาหารไทยอื่นๆที่นิยมใส่ใบแมงลักด้วยเช่นกัน โดยมากเป็นอาหารที่มักจะมีการปรุงรสจัดหรือกลิ่นแรง เช่น ห่อหมกหน่อไม้ อ่อม ปลาต้มแซบ แกงขนุนใส่ไก่ ต้มบวบกับปลาย่าง และที่น่าสังเกตคือส่วนใหญ่มักเป็นอาหารอีสานที่นิยมใส่ใบแมงลักในอาหารมากกว่าภาคอื่นๆ

การใช้แมงลักและผักใบหอมที่มีน้ำมันหอมระเหยอื่นๆ ในอาหาร เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการปรุงอาหารของคนไทย ที่นิยมใส่เครื่องเทศลงไปเสริมรสชาติ แล้วยังช่วยเติมธาตุไฟในการช่วยย่อย แต่ศิลปะอยู่ที่การเลือกชนิดของเครื่องเทศให้เข้ากับอาหารแต่ละจาน จนรับประทานแล้วได้แต่รำพึงว่า ช่างเลือกได้เหมาะเจาะเสียจริงๆ

สรรพคุณทางยา แมงลัก

ใบแมงลัก : รสร้อนอ่อน ๆ แก้ลม วิงเวียน ขับลมในลำไส้ แก้ธาตุพิการ แก้ท้องขึ้นท้องเฟ้อ แก้ลมวิงเวียน ช่วยย่อยอาหาร แก้ซางชักในเด็ก

แมงลักทั้งต้น : แก้ไอ และโรคทางเดินอาหาร

เมล็ดแมงลัก : แช่น้ำให้พอง กินเป็นยาระบายอ่อนๆ แก้บิด [3]

ตำราต่างประเทศกล่าวว่า น้ำมันหอมระเหยของแมงลักมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับน้ำมันหอมระเหยของกะเพรา หมายความว่า แมงลักใช้รักษาโรคที่กะเพรารักษาได้ ตำราไทยกล่าวว่า แมงลักใช้แทนผักคราดและกะเพราได้ (ในด้านสมุนไพร)

ไข่กบ ขนมแสนง่าย ยาถ่ายคนยาก

สมัยก่อนโน้นยังไม่มีขนมกรุบกรอบสำเร็จเหมือนในปัจจุบัน ของหวานจะมีกินก็เฉพาะตอนวันพระ หรือมีงานบุญ งานลงแขก ที่จำได้คือ การลงแขกเกี่ยวข้าว จะมีขนมชนิดหนึ่งคือ ข้าวเหนียวโตนไข่กบ จะเอาข้าวเหนียวไปหุงแบบข้าวเจ้าไม่นึ่งเหมือนปกติ จะได้ข้าวเหนียวแฉะๆ แล้วมีน้ำกะทิหอมหวาน กับเม็ดพองใสๆ คล้ายๆ ไข่กบ ใส่หม้อวางไว้ข้างๆ วิธีกินคือ ตักข้าวเหนียวราดด้วยไข่กบและราดน้ำกะทิอีกทีหนึ่ง บางคนก็กินแต่ไข่กบราดน้ำกะทิ

ไข่กบนี้ยังได้เจอตอนไปโรงเรียน เพราะแม่ค้าน้ำแข็งไสที่โรงเรียนก็ขายไข่กบน้ำกะทิ ไข่กบน้ำเชื่อม เวลาเดินกลับจากโรงเรียนไปตามคันนา ในหน้าฝนจะเห็นไข่กบของจริงลอยเป็นแพ เหมือนกับที่เพิ่งกินมาจากโรงเรียนไม่มีผิด แต่ก็หลอกเด็กอย่างเราไม่ได้ เพราะแม่เคยเล่าสนุกๆ ว่ามีญาติมาจากอีสาน ไปเอาไข่กบจริงๆ มากินแล้วก็บ่นว่า ทำไมคาวจังไม่เห็นเหมือนไข่กบที่ได้กินที่บ้านงาน พวกเราก็หัวเราะกันใหญ่ แม่บอกว่าขนมไข่กบเป็นขนมที่ทำง่ายที่สุด แค่แช่น้ำก็ได้กินแล้ว แต่ผู้ใหญ่จะเตือนว่า อย่ากินเยอะเดี๋ยวกินข้าวไม่ได้

จริงๆ แล้วไข่กบก็คือ เมล็ดแมงลัก นั่นเอง เมล็ดแมงลักมีสีดำ เมื่อแช่น้ำจะพองตัวมีสารเมือกเป็นวุ้นใสอยู่รอบๆ คล้ายไข่กบ สารเมือกเหล่านี้เป็นใยอาหารชนิดที่ละลายน้ำได้ เมื่อรับประทานเข้าไปจะพองตัวดูดน้ำ ช่วยกระตุ้นลำไส้ให้เกิดการขับถ่ายอย่างเป็นธรรมชาติ นอกจากนี้ยังทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม ช่วยหล่อลื่นทำให้อุจจาระไม่เกาะผนังลำไส้ ช่วยให้การขับถ่ายสะดวก ใยอาหารของเมล็ดแมงลักได้รับการยืนยันว่าเป็น ปรีไบโอติกส์ คือ เป็นอาหารของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ที่อยู่ในท้องไส้ของเรา การกินเม็ดแมงลักเพื่อช่วยแก้ท้องผูกนั้น ควรแช่น้ำให้พองตัวดีก่อน แล้วต้องดื่มน้ำตามมากๆ เพราะเมล็ดแมงลักสามารถพองตัวได้ถึง 45 เท่า ถ้าพองตัวไม่เต็มที่จะทำให้ท้องอืดและอุจจาระแข็งและอาจทำให้ลำไส้อุดตันได้ [2]

ตำรับยา

ยาแก้ท้องผูกเมล็ดแมงลัก

เมล็ดแมงลัก 1-2 ช้อนชา ล้างน้ำให้สะอาด แช่น้ำ 1 แก้ว คนให้ทั่ว ทิ้งไว้อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ดื่มน้ำตามให้เพียงพอ ช่วยระบายถ่ายคล่อง

ยาแก้ท้องอืด

แมงลักทั้ง 5 ประมาณ 1 กำมือ น้ำพอท่วมยา ต้มให้เดือดพอเดือดหรี่ไฟลงต้มต่อไป 5 นาที กินต่างน้ำชา กินต่างน้ำช่วยรักษาอาการท้องอืด

ข้อควรระวัง

  • ใยอาหารนั้นจะช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลและไขมัน จึงอาจมีผลชะลอการดำเนินของโรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูง แต่ถ้ารับประทานมากเกินไปติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารต่างๆ ได้น้อยลง โดยเฉพาะวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แหล่งอ้างอิง

[1] https://g.co/kgs/Xqaigb

[2] บันทึกของแผ่นดิน 6 สมุนไพรท้องไส้ ในวิถีอาเซียน

[3] http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_05_8.htm