กรม สบส.จัดเวทีมอบนโยบายการใช้ยาอย่างสมเหตุผล สู่การปฏิบัติในสถานพยาบาลเอกชน ขจัดอาการไม่พึงประสงค์ และปัญหาเชื้อดื้อยาจากการใช้ยาเกินจำเป็น

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เดินหน้าพัฒนาระบบริการสุขภาพด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เปิดเวทีวิชาการมอบนโยบายแก่โรงพยาบาลเอกชน คลินิกทั่วไทย เพิ่มความคุ้มค่า ความปลอดภัย ลดอาการไม่พึงประสงค์และปัญหาเชื้อดื้อยาจากการใช้ยาเกินจำเป็น

วันที่ 19 มีนาคม 2563 ณ อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.)เปิดประชุมวิชาการและมอบนโยบายการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use : RDU) สู่การปฏิบัติในสถานพยาบาลเอกชน โดยเน้นให้กลุ่มเป้าหมายรับชมผ่านระบบออนไลน์ด้วยการถ่ายทอดผ่านระบบเฟซบุ๊กไลฟ์ (Facebook Live) เพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคล และสังคม (Social Distance) ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งภายหลังพิธีเปิดฯ นายแพทย์ธเรศ ให้สัมภาษณ์ว่า การใช้ยาไม่สมเหตุผลนับเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ ปัญหาเชื้อดื้อยา การสูญเสียทรัพยากร และสูญเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น สำหรับประเทศไทยการใช้ยาไม่สมเหตุผลในสถานพยาบาลและชุมชนก็นับว่าเป็นปัญหาระดับชาติมานาน ทั้งการบริโภคยาปฏิชีวนะรักษาโรคหวัดซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส การใช้ยาซ้ำซ้อนหรือใช้ยามากเกินความจำเป็น ซึ่งข้อมูลการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2560-2561 ได้ประมาณการว่าหากสามารถลดการจ่ายยาโดยไม่จำเป็นในโรคติดเชื้อเฉียบพลันและอุจจาระร่วงเฉียบพลัน จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 300-600 ล้านบาท ต่อปี กรม สบส.จึงกำหนดจัดการประชุมในวันนี้ขึ้นเพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายการใช้ยาอย่างสมเหตุผลไปสู่การปฏิบัติอย่างเร่งด่วน ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เห็นชอบแนวทางสู่ การประกาศประเทศไทยเป็น “ประเทศใช้ยาสมเหตุผล (RDU Country)” โดยมีเป้าหมายภายในปี 2565 ดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปฏิรูประบบ (พ.ศ.2560 – 2564) บูรณาการระบบการทำงานครอบคลุมและเชื่อมโยงทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และระยะที่ 2 สู่ความยั่งยืน RDU คือ งานประจำและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีองค์กรกลางเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนระบบ เพื่อยกระดับการรักษาผู้ป่วยทั้งด้านประสิทธิผล ความคุ้มค่า ความปลอดภัย

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า การใช้ยาซ้ำซ้อนหรือมากเกินไปนั้น ก่อให้เกิดปัญหาในหลากหลายด้าน ทั้งการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อตัวผู้ป่วย รวมถึงปัญหาเชื้อดื้อยาซึ่งเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก การประชุมในวันนี้จึงมุ่งเน้นในการให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมฯ โดยได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมให้ความรู้ ควบคู่ไปกับการนำเสนอแนวทางการดำเนินงานให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยใช้หลักกุญแจสำคัญ 6 ประการ (PLEASE) ซึ่งประกอบด้วย 1.ความเข้มแข็งของคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด (P : Pharmacy and Therapeutics Committee) 2.ฉลากยา และข้อมูลยาสู่ประชาชน (L : Labeling and Leaflet) 3.เครื่องมือจำเป็นที่ช่วยให้เกิดการสั่งใช้ยาอย่างสมเหตุผล  (E : Essential RDU Tools) 4.ความตระหนักรู้ของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยต่อหลักเกณฑ์ในการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (A : Awareness for RDU Principles among Health Personnel and Patients) 5.การดูแลด้านยาเพื่อความปลอดภัยของประชากรกลุ่มพิเศษ (S : Special Population Care) และ6.จริยธรรมในการสั่งใช้ยา (E : Ethics in Prescription) มาให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมฯ เพื่อพัฒนาและปฏิรูประบบบริการสุขภาพของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าและเป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชนให้ได้รับบริการที่ดี มีความปลอดภัยและคุ้มค่า