กรมอนามัย วอนผู้เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง แยกสังเกตอาการ ทำความสะอาดที่พัก เฝ้าระวังตนเอง ลดเสี่ยงแพร่เชื้อ COVID-19

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงที่เป็นเขตติดโรคอันตรายและพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง ต้องแยกสังเกตอาการที่บ้าน (Home Quarantine) พร้อมแนะปฏิบัติตน ทำความสะอาดที่พักอาศัย เฝ้าระวังอาการ 14 วัน ป้องกันการแพร่เชื้อ COVID-19

แพทย์หญิงพรรณพิมล  วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงที่เป็นเขตติดโรคอันตรายและพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง กรณีแยกสังเกตอาการที่บ้าน (Home Quarantine) เป็นระยะเวลา 14 วัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ในกรณีที่อยู่บ้านคนเดียว อยู่ร่วมกับครอบครัวหรือพักร่วมกับผู้อื่น ควรปฏิบัติดังนี้ 1) วัดอุณหภูมิกายทุกวัน หากพบว่ามีไข้ อุณหภูมิ มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการทางเดินหายใจ เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย ให้ไปพบแพทย์ โดยแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หรือแจ้ง 1669 เพื่อประสานการรับตัว 2) ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ด้วยการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที กรณีไม่มีน้ำและสบู่ ให้ลูบมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ ปิดปากจมูกด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอจาม 3) หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดบุคคลอื่นในที่พักอาศัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ และควรอยู่ห่างจากคนอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 1 – 2 เมตร หรือ 1 – 2 ช่วงแขน หรือใช้เวลาพบปะผู้อื่นให้สั้นที่สุด

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า ข้อปฏิบัติต่อมา คือ 4) ให้แยกห้องนอน ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ โทรศัพท์ รวมทั้งให้แยก ทำความสะอาด 5) จัดให้มีน้ำดื่มแยกเฉพาะ แยกการรับประทานอาหาร ไม่รับประทานอาหารร่วมกับคนในครอบครัว และเก็บล้างภาชนะด้วยน้ำยาล้างจาน ผึ่งให้แห้งและตากแดด 6) ให้แยกขยะ เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ขยะทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก ภาชนะใส่อาหารแบบใช้ครั้งเดียว ขวด เป็นต้น และขยะติดเชื้อ ได้แก่ ขยะที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ในแต่ละวันให้เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อ โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ทำลายเชื้อโดยราดด้วยน้ำยาฟอกขาว แล้วมัดปากถุงให้แน่น นำไปทิ้งรวมกับขยะทั่วไป 7) ให้แยกการใช้ห้องส้วมกับคนในครอบครัว หากแยกไม่ได้ ควรใช้ห้องส้วมเป็นคนสุดท้าย และให้ทำความสะอาดทันทีหลังใช้ส้วม ให้ปิดฝาทุกครั้งก่อนกดชักโครกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค 8) กรณีจำเป็นต้องพบปะผู้อื่น ให้ใช้หน้ากากอนามัย ซึ่งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วให้ทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด และทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือน้ำและสบู่ทันที 9) งดกิจกรรมนอกบ้าน หยุดงาน หยุดเรียน งดไปในที่ชุมชน  งดใช้ขนส่งสาธารณะ

“สำหรับการทำความสะอาดที่พักอาศัยนั้น ควรสวมหน้ากากอนามัย ถุงมือยาง และผ้ากันเปื้อนพลาสติก โดยทำความสะอาดพื้นบริเวณที่พักและอุปกรณ์เครื่องใช้ เช่น บริเวณที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อยๆ และจุดเสี่ยงอื่นๆ ด้วยน้ำยาฟอกขาว นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องส้วม ด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำอย่างสม่ำเสมอ และ  อาจทำลายเชื้อด้วยน้ำยาฟอกขาว ในขณะทำความสะอาดควรเปิดประตู หน้าต่าง เพื่อให้มีการระบายอากาศ และทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ปลอกหมอน ผ้าขนหนู ด้วยสบู่หรือผงซักฟอกธรรมดาและน้ำ หรือซักผ้าด้วย   น้ำร้อนที่อุณหภูมิน้ำ 60 – 90 องศาเซลเซียส” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 18 มีนาคม 2563