ก.แรงงาน มอบโล่เอกชน หนุนงบฝึกทักษะแรงงาน

วันที่ 17 มีนาคม 2563 ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ อาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานมอบโล่เกียรติคุณให้แก่เครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 22 แห่ง ที่สนับสนุนวัสดุและอุปกรณ์ มูลค่ารวมกว่า 19 ล้านบาท ช่วยพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ลดปัญหาขาดแคลนกำลังคน

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนตามแนวทางประชารัฐเป็นนโยบายหลักประการหนึ่งของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง แรงงาน (หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล) ซึ่งกพร.ได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้บูรณาการร่วมกับเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 22 แห่ง ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย บริษัท ชไนเดอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท แซง-โกแบ็งเวเบอร์ จำกัด บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บริษัท ไทยผลิตภัณฑ์ยิบซั่ม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด บริษัท ทีซีที กรุ๊ป จำกัด บริษัท นิปปอนเพนต์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) บริษัท มาเวล คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามอุตสาหกรรมยิปซัม (สระบุรี) จำกัด บริษัท อีมิแน้นท์แอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอ็นเอส บลูสโคป (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซี เอเบิล จำกัด บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) และโรงแรมรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา เพื่อร่วมกันพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีทักษะได้มาตรฐานและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ปี 2562 กพร.ได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ และงบประมาณการฝึกอบรม จำนวน 19,358,037 บาท จากหน่วยงานที่เป็นเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงานดังกล่าว รวมทั้งจัดฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้แก่แรงงานในภาคอุตสาหกรรม จำนวน 10,356 คน สามารถพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีทักษะตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน และทันต่อเทคโนโลยี ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน กพร.จึงได้มอบโล่เกียรติคุณเพื่อเป็นการขอบคุณเครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงานทั้ง 22 แห่ง ที่ให้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องช่วยให้แรงงานไทยให้มีงานทำอย่างมั่นคงมีรายได้ดูแลตนเองและครอบครัว ส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

“การพัฒนาทักษะให้แก่แรงงาน จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งการให้ความร่วมมืออย่างดีมาโดยตลอดจากเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงานนั้นย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพในการพัฒนาทักษะฝีมือ ก่อให้เกิดความพร้อมและเป็นกำลังสำคัญในการสร้างผลิตภาพและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ” อธิบดี กพร.กล่าว