แพทย์เตือนให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการนอนหลับ หากพบสัญญาณเตือนที่เสี่ยงอาจทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก เตือนให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการนอนหลับ หากพบสัญญาณเตือน อาทิ การนอนกรนเสียงดังเป็นประจำ ญาติสามารถสังเกตว่าในขณะนอนหลับ หยุดหายใจหรือหายใจเฮือกเหมือนสำลักน้ำลาย เสียงดังสลับนิ่งเงียบเป็นพักๆ ง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน อาจเสี่ยงทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

 นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประชากรควรตระหนักและให้ความสำคัญของการนอนหลับ หากพบปัญหาการนอนหลับ ไม่เร่งรีบแก้ไขก็อาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังทั้งสุขภาพกาย ใจ สมองและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและการทำงานได้ ในปัจจุบันภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea, OSA) พบมากขึ้น ซึ่งเกิดจากการยุบตัวของทางเดินหายใจส่วนต้น ทำให้ขณะหลับร่างกายจะเกิดภาวะขาดออกซิเจนเป็นช่วงๆ การนอนหลับจะขาดตอน ส่งผลต่อการทำงานของสมอง ทำให้เกิดอาการง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุขณะขับรถ และเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วนลงพุง โรคสมองเสื่อม เป็นต้น ภาวะนี้สามารถพบได้ในทุกวัย โดยผู้ใหญ่จะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง วัยทอง คนอ้วน และอาจพบในเด็กที่มีต่อมทอนซิลและอดีนอยด์โต มีปัญหาโครงสร้างใบหน้าหรือเด็กที่อ้วน

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สัญญาณเตือนที่เสี่ยงอาจทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น คือ การนอนกรนเสียงดังเป็นประจำ ญาติสามารถสังเกตว่าในขณะนอนหลับ หยุดหายใจหรือหายใจเฮือกเหมือนสำลักน้ำลาย เสียงดังสลับนิ่งเงียบเป็นพักๆ บางครั้งตื่นมารู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก ง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน ไม่สดชื่นหรือปวดศีรษะหลังตื่นนอน ไม่มีสมาธิในการทำงาน ขี้ลืม หงุดหงิดง่าย วิตกจริตหรือซึมเศร้า ผู้ที่มีอาการดังกล่าวควรไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ เพื่อเข้ารับการตรวจการนอนหลับ (Polysomnography, PSG) ในการวินิจฉัยโรค แนะนำการปฏิบัติตัวพื้นฐานในผู้ป่วยโรคนี้ เช่น การคุมอาหารและลดน้ำหนักในรายที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ หลีกเลี่ยง การนอนหงาย พยายามนอนตะแคง ไม่ควรรับประทานยานอนหลับเพราะยาจะกดการหายใจ ทำให้ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเป็นมากขึ้น ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 4 ชั่วโมงก่อนนอนเพราะแอลกอฮอล์จะทำให้รูปแบบการนอนหลับไม่ต่อเนื่อง และไม่ควรขับรถขณะง่วงนอน เนื่องจากอาจหลับในสามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เป็นต้น สำหรับการรักษาภาวะดังกล่าวขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค โดยแบ่งเป็น 1.การรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง ถือเป็นมาตรฐานในการรักษา 2.การใส่ทันตอุปกรณ์ โดยทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้เหมาะสมในแต่ละรายซึ่งจะได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีระดับความรุนแรงของโรคเล็กน้อยถึงปานกลาง 3.การผ่าตัด ในกรณีผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ร่วมกับมีโครงสร้างทางเดินหายใจส่วนต้นผิดปกติ  หลังการรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับให้การดูแลที่เหมาะสม เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงในระยะยาว


#กรมการแพทย์ #สถาบันโรคทรวงอก #การนอนหลับ

16 มีนาคม 2563