‘กรมเจรจาฯ’ แนะใช้ FTA ช่วยหาแหล่งนำเข้าหน้ากากอนามัย-เจลล้างมือ-วัตถุดิบ สู้โควิด-19

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ชี้ช่องผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยสู้วิกฤติไวรัสโควิด-19 ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ หาแหล่งนำเข้าสินค้าหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และวัตถุดิบที่ใช้ทำหน้ากากอนามัย ซึ่งไทยลดและยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าดังกล่าว ช่วยเสียภาษีนำเข้าถูกลงและต้นทุนในการผลิตสินค้าลดลง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส อาทิ หน้ากากอนามัย (surgical masks) และเจลล้างมือ (hand sanitizers) รวมถึงกลุ่มสินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าข้างต้น มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตและแสวงหาแหล่งนำเข้าสินค้าเพิ่มเติม ซึ่งการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ จะช่วยเพิ่มทางเลือกให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงสินค้าและวัตถุดิบจากแหล่งที่หลากหลายได้มากขึ้น

นางอรมน เสริมว่า จากสถิติการค้าในปี 2562 พบว่า ไทยนำเข้าสินค้าหน้ากากอนามัยประมาณ 6 แสนเหรียญสหรัฐ  โดยมีจีนเป็นตลาดนำเข้าอันดับหนึ่ง ด้วยสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 94 ตามด้วย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ และจีนไทเป และไทยส่งออกสินค้าหน้ากากอนามัย มูลค่า 45,000 เหรียญสหรัฐ มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ กัมพูชา มัลดีฟส์ สหรัฐฯ สปป.ลาว และอินเดีย ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้ากลุ่มเจลล้างมือและวัตถุดิบ มูลค่า 564 ล้านเหรียญสหรัฐ มีตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และเยอรมนี โดยไทยส่งออกสินค้ากลุ่มเจลล้างมือและวัตถุดิบ มูลค่า 345 ล้านเหรียญสหรัฐ มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐฯ และเวียดนาม สำหรับสินค้าวัตถุดิบที่ใช้ทำหน้ากากอนามัย ไทยนำเข้าผ้าชนิดไม่ถักไม่ทอ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตหน้ากากอนามัยรวม 162 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และจีนไทเป และไทยส่งออกสินค้าผ้าชนิดไม่ถักไม่ทอ มูลค่า 256.5 ล้านเหรียญสหรัฐ มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม สหรัฐฯ และอินเดีย

ทั้งนี้ ภายใต้ความตกลงเอฟทีเอที่ไทยมี 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง ซึ่งไทยได้ลดเลิกภาษีนำเข้าสินค้าดังกล่าวแล้วเป็นส่วนใหญ่ โดยหน้ากากอนามัย ไทยได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้ากับ 16 ประเทศแล้ว ยกเว้น อินเดีย (คงภาษีร้อยละ 5) และฮ่องกง (คงภาษีร้อยละ 8) ส่วนเจลล้างมือ ไทยยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้ากับ 17 ประเทศคู่เอฟทีเอ ยกเว้น ฮ่องกง (คงภาษีร้อยละ 3) และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย ซึ่งมีผ้าชนิดไม่ถักไม่ทอเป็นวัตถุดิบหลัก โดยภายใต้ความตกลงเอฟทีเอทุกฉบับ ไทยได้ลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือศูนย์แล้ว

“หากผู้ประกอบการต้องการนำเข้าสินค้าข้างต้นจากประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย ก็สามารถขอใช้สิทธิภายใต้เอฟทีเอ เสียภาษีนำเข้าในอัตราที่ถูกลง ทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าลดลงตามไปด้วย ซึ่งแม้ว่าประเทศต่างๆ อาจประสบปัญหาขาดแคลนสินค้าและวัตถุดิบเช่นกันจากวิกฤติการระบาดของไวรัส แต่ก็อาจมีบางประเทศที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และอาจมีกำลังผลิตพอที่จะส่งออกให้ไทยได้  ทั้งนี้ สำหรับประเทศที่ไทยไม่มีเอฟทีเอด้วย ไทยได้กำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าหน้ากากอนามัยจากประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ที่ร้อยละ 10 สินค้าเจลล้างมือ ระหว่างร้อยละ 0-10 วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย เช่น ผ้าชนิดไม่ถักไม่ทอหรือผ้าสปันบอนด์ ที่ร้อยละ 5 ส่วนเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย ไทยกำหนดอัตราภาษีนำเข้าเป็นศูนย์แล้ว” นางอรมน กล่าว

สำหรับวัสดุที่นิยมใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย ได้แก่ ผ้าชนิดไม่ถักไม่ทอ (Nonwoven Fabric) ใน 2 ลักษณะ คือ ผ้า สปันเลส ซึ่งมีลักษณะอ่อนนิ่มและโค้งงอคล้ายผ้า และผ้าชนิดเมลต์โบลน ซึ่งมีเส้นใยที่เล็กละเอียดในระดับนาโนเมตรไมโครเมตร ซึ่งใช้เป็นแผ่นกรอง (Filter Sheets) หลังจากนั้นจะนำผ้ามาเชื่อมกันด้วยวิธีอัลตร้าโซนิค เพื่อให้กรองเชื้อโรคได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนเจลล้างมือหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือแบบไม่ต้องล้างน้ำออก มีส่วนประกอบสำคัญ คือ แอลกอฮอล์ อาจมีสารฆ่าเชื้อ สารที่ทำให้เกิดสภาพเจล (gelling agent) สารให้ความชุ่มชื้น (emollients) และน้ำหอม


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์