สบยช. ลดการทะเลาะวิวาทของผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นด้วยกิจกรรม “โมโม่ โมโหแล้ว”

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์  ดำเนินกิจกรรม  “โมโม่ โมโหแล้ว” หวังลดการทะเลาะวิวาทของผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในปัจจุบันวัยรุ่นเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดมากขึ้น วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้มีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ชอบใช้ความรุนแรง
ในการตัดสินปัญหามากกว่าเหตุผล จากข้อมูลการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดของ สบยช. พบอุบัติการณ์ความเสี่ยงการทะเลาะวิวาทในผู้ป่วยยาเสพติดเด็กและวัยรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ในช่วง 3 ปี ย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2559 -2561 จำนวน 27  ครั้ง เฉลี่ย  2.25 ครั้งต่อเดือน จำนวน 16 ครั้ง เฉลี่ย 1.33 ครั้งต่อเดือน และ จำนวน 31 ครั้ง เฉลี่ย 2.58 ครั้งต่อเดือน ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าอุบัติการณ์ความเสี่ยงการทะเลาะวิวาทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่มีปัญหาโรคร่วม เช่น โรคสมาธิสั้น ดื้อต่อต้าน เกเร และมีปัญหาเกี่ยวกับสติปัญญา ความรุ่นแรงจากการเสพสารเสพติด รวมถึงประสบการณ์ทางด้านลบในชีวิต ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สำคัญในด้านความปลอดภัยต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ป่วย ส่งผลให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า สบยช. โดยหอผู้ป่วยบุษราคัม ซึ่งให้การดูแลผู้ป่วยยาเสพติดเด็กและวัยรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ที่ใช้สารเสพติดทุกประเภทในระยะบำบัดด้วยยา ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดการทะเลาะวิวาท จึงได้มีการทบทวนและแก้ไขปัญหาโดยการดำเนินกิจกรรม “โมโม่ โมโหแล้ว” ซึ่งเป็นกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาวะทางอารมณ์และความคิดสำหรับเด็กด้วยเทคนิคการบำบัดความคิดและพฤติกรรม  เพื่อพัฒนาทักษะการจัดการอารมณ์ได้ด้วยตัวเอง โดยเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคม 2562 รวมระยะเวลา 2 เดือน ผลการดำเนินกิจกรรมเกิดอุบัติการณ์ความเสี่ยงการทะเลาะวิวาทปี 2562 จำนวน 25 ครั้ง เฉลี่ย 2.5 ครั้งต่อเดือน โดยผู้ป่วยให้ความร่วมมือและมีความพึงพอใจต่อกิจกรรมนี้ ทำให้ผู้ป่วยรู้จักอารมณ์ ความรู้สึกและวิธีควบคุมอารมณ์ของตนเอง เข้าใจถึงสถานการณ์และความเสี่ยง รวมถึงไม่พาตัวเองเข้าไปในเหตุการณ์ที่จะก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท ทั้งนี้หลังจากผ่านการสอนแล้วผู้ป่วยสามารถบอกอารมณ์ทางลบที่เกิดขึ้นของตนเองให้กับเจ้าหน้าที่และเพื่อนผู้ป่วยได้รับรู้ เพื่อขอความช่วยเหลือทำให้การแสดงพฤติกรรมทะเลาะวิวาทของผู้ป่วยลดลง การสอนให้ผู้ป่วยได้รู้จักอารมณ์  ความรู้สึกด้านลบ วิธีจัดการและฝึกควบคุมอารมณ์ของตนเอง ช่วยให้ผู้ป่วยมีสติ ควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเองได้ดีขึ้น ส่งผลให้การทะเลาะวิวาทมีแนวโน้มที่จะลดลง ทำให้การบำบัดรักษามีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดี  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หอผู้ป่วยบุษราคัม สบยช. โทร 0 2531 0080-8 ต่อ 438 และ439  หรือติดตามข้อมูลและข่าวสารต่างๆ ได้ที่www.pmnidat.go.th


#กรมการแพทย์  #สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี #สบยช.