ชู GI “มะยงชิดนครนายก – มะปรางหวานนครนายก” ปลุกเศรษฐกิจท้องถิ่น คาดส่งออกคึกคัก หวังโกยรายได้แตะหลัก 100 ล้าน

จังหวัดนครนายกร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น จัดงาน “มะยงชิด มะปรางหวาน ของดีนครนายก ประจำปี 2563” อย่างยิ่งใหญ่ ยกขบวนสินค้า GI มะยงชิดนครนายก มะปรางหวานนครนายก และผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ มาให้เลือกชม ชิม ช็อป ร่วมด้วยการจัดประกวดผลผลิตของเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมเผยแผนการตลาดกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นโดยนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้เข้าร่วมงาน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ณ บริเวณสี่แยกช้าง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า “มะยงชิดนครนายกและมะปรางหวานนครนายกเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดที่มีคุณภาพและเอกลักษณ์โดดเด่นจนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2559 กรมทรัพย์สินทางปัญญาขอชื่นชมท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนภายในจังหวัดที่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าดังกล่าวเป็นอย่างดี ทั้งในแง่ของการผลิต การตลาด ตลอดจนการพัฒนามาตรฐานการส่งออก งานมะยงชิด มะปรางหวาน ของดีนครนายก ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ก็นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์สินค้าดังกล่าวให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้น”

นายทศพล กล่าวเพิ่มเติมว่า “น่ายินดีที่ปีนี้สภาพภูมิอากาศเอื้อต่อการปลูกมะยงชิดนครนายกและมะปรางหวานนครนายก ทำให้ผลผลิตมีปริมาณมากและมีคุณภาพตามมาตรฐานสินค้า GI โดยมะยงชิดนครนายกที่นำมาจัดแสดงและจำหน่ายภายในงานมีลักษณะเด่น คือ มีผลใหญ่รูปไข่ เนื้อแน่น กรอบ มีกลิ่นหอม และรสชาติหวานอมเปรี้ยว ส่วนมะปรางหวานนครนายกมีผลใหญ่ยาวรี เปลือกบาง มีกลิ่นหอม และรสชาติหวานกรอบ ซึ่งทางจังหวัดคาดว่าปีนี้จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยรวมได้ประมาณ 400 ตัน เพียงพอต่อความต้องการของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในชุมชนกว่า 100 ล้านบาทเลยทีเดียว กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงอยากฝากไปถึงพี่น้องเกษตรกรชาวสวนมะยงชิดนครนายกและมะปรางหวานนครนายกทุกท่าน ให้รักษาคุณภาพการผลิตสินค้าให้ปลอดภัยและได้มาตรฐาน GI เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคตลอดจนเครือข่ายการตลาด อันจะส่งผลให้มีช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรชาวสวนโดยรวมต่อไป”

ด้านนายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก กล่าวว่า “ปัจจุบันผลผลิตมะยงชิดนครนายกและมะปรางหวานนครนายกกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ทางจังหวัดจึงเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ผลิตที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการควบคุมมาตรฐาน GI ได้ทำเรื่องขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ GI เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพการผลิตสินค้าทั้งสองประเภทให้ได้มาตรฐาน และยังช่วยป้องกันการปลอมปนและแอบอ้างใช้ตราสัญลักษณ์ GI เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในท้องถิ่นให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน”
———–