เริ่มนัดแรก! ภาคีเครือข่ายตบเท้าเข้าร่วมหารือขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ‘วิถีเพศภาวะ’ เปิดพื้นที่กลางแลกเปลี่ยน พร้อมทำความเข้าใจรายละเอียดร่วมกัน

เพียงแค่สองเดือนเศษ นับจากที่สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มีฉันทมติร่วมกันในระเบียบวาระ “วิถีเพศภาวะ : เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว” ภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 เมื่อช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้

ถือเป็นความน่ายินดียิ่ง ที่ได้เห็นภาพของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนมาเข้าร่วมการประชุมปรึกษาหารือการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2562 “มติที่ 12.2 วิถีเพศภาวะ : เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว” เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา อย่างเนืองแน่น เพื่อแสดงพลัง ระดมความเห็นและความพร้อมที่จะร่วมมือกันขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินี้ให้เกิดดอกผลอย่างเป็นรูปธรรม

“มตินี้เป็นมติแรกของปี 2562 ที่มีการวางแนวทางการขับเคลื่อน ซึ่งเป็นการหารือกันก่อน ที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติด้วย” ดร.วณี ปิ่นประทีป ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ ระบุพร้อมสะท้อนถึงความตื่นตัวของทุกภาคส่วน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าประเด็น “วิถีเพศภาวะ” จะได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หากคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เรื่องนี้มีละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อนในหลายมิติ จึงจำเป็นต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจร่วมกัน

การประชุมนัดแรก เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจถึงความหมายและภาพที่พึงประสงค์ของคำว่า “เพศภาวะ” เป้าหมายของแต่ละข้อมติฯ และเส้นทางเดินของมติตั้งแต่ปี 2563-2565 โดย รศ.ดร.สมพร รุ่งเรืองกลกิจ เลขานุการคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเฉพาะประเด็นฯ ได้อธิบายให้ที่ประชุมเห็นถึงปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิตจากนโยบาย และผลลัพธ์ที่คาดหวัง

“เรียกได้ว่า มตินี้มาถูกที่ถูกเวลา เพราะถ้าเราพูดเรื่องนี้กันในอดีต สังคมไม่เข้าใจและไม่ยอมรับแน่นอน ในปัจจุบัน ถึงแม้สังคมจะเปิดกว้างขึ้น แต่ก็ยังไม่มีมาตรการรองรับ” ศ.ศิริพร จิรวัฒน์กุล ประธานคณะทำงานฯ กล่าวเสริม

นอกจากนี้ แต่ละภาคีเครือข่ายยังได้ร่วมสะท้อนมุมมอง และแลกเปลี่ยนสถานการณ์ นโยบาย แผนงาน รวมถึงโครงการต่างๆ

ผู้แทนจาก สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย มีความเห็นว่า จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเพศภาวะตั้งแต่เด็ก เช่น ทุกวันนี้ ตำราเรียนชั้น ป.1-ป.6 มีการปรับปรุงแล้ว แต่ปัญหาคือกลับยังไม่มีการบรรจุเรื่องนี้เข้าไปในหลักสูตรของส่วนกลางอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกัน ครูผู้สอนก็อาจจะยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้

ผู้แทนจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ข้อมูลว่า แบบเรียนในปัจจุบันได้รับการปรับปรุงอย่างครอบคลุมในหลายเรื่อง เช่น การอธิบายถึงประเภทต่างๆ ของครอบครัว รวมทั้งความหลากหลายทางเพศ ขณะเดียวกันก็มีการจัดอบรมครูในประเด็นเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ

ผู้แทนจาก กรมประชาสัมพันธ์ แจ้งว่า ปัจจุบันมีข้อสั่งการจากอธิบดีเรื่องการสื่อสารโดยไม่เลือกปฏิบัติทางเพศ สอดคล้องกับ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ที่ยืนยันเช่นเดียวกันว่า ทุกวันนี้จัดการเรียนการสอนโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติทางเพศ

ในส่วนของผู้แทน กระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถึงสาระตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ที่บัญญัติถึงความเท่าเทียมกันทางเพศ โดยกำหนดให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเท่าเทียมกันในเรื่องการจ้างงาน และห้ามนายจ้างล่วงละเมิดทางเพศ

นพ.สมชาย พีระปกรณ์ อนุกรรมการวิชาการภายใต้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ขมวดภาพรวมของการขับเคลื่อนมติฯ ที่ภาคีเครือข่ายต้องมาร่วมกันออกแบบแนวทางเพื่อที่จะไม่ให้ประเด็นความไม่เข้าใจ การไม่ยอมรับในเรื่องเพศภาวะที่แตกต่างหลากหลาย สร้างผลกระทบทางลบแก่คนในสังคมแม้จะเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ จนเขาเหล่านั้นไม่สามารถอยู่ในสังคมไทยต่อไปได้ “สุดท้ายแล้ว เราต้องช่วยกันรื้อความคิด ปรับ Mindset ของสังคมไทยใหม่” นพ.สมชาย ระบุ

ตอนท้ายของการประชุม มีการยกตัวอย่าง “ความเป็นธรรมทางเพศภาวะ” จากกรณี “ห้องน้ำสาธารณะ” ซึ่งในความเป็นจริง เพศหญิงจะใช้ห้องน้ำนานกว่าเพศชาย ดังนั้น ในจำนวนคนที่เท่ากัน ย่อมหมายถึง ห้องน้ำหญิงควรมีจำนวนมากกว่าห้องน้ำชาย ขณะเดียวกัน ในการเก็บค่าใช้บริการห้องน้ำสาธารณะ เพศหญิงก็ควรจ่ายค่าบริการมากกว่าเพศชาย เช่นกัน

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของ “ความละเอียดอ่อนทางเพศ” หรือ Gender Sensitive ที่สังคมไทยจำเป็นต้องตระหนักและทำความเข้าใจร่วมกัน