ชป.ย้ำน้ำอุปโภคบริโภคจะไม่ขาด ขอทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด

กรมชลประทาน ย้ำปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง คุมเข้มการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศให้เพียงพอใช้อุปโภคบริโภคไปจนถึงต้นฤดูฝนนี้ พร้อมวอนทุกฝ่ายต้องช่วยกันประหยัดน้ำให้มากที่สุด ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ในอนาคต

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 9/2563 ซึ่งมีผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรุงเทพมหานคร กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การประปานครหลวง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เข้าร่วมประชุมฯ พร้อมทั้ง VDO Conference ไปยังสำนักงานชลประทาน และเครือข่าย SWOC ทั่วประเทศ ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ อาคาร 99 ปีหม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์พยากรณ์อากาศในช่วงวันที่ 3 – 5 มีนาคม 2563 ว่า ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงอาจจะมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกจะมีผลกระทบในวันที่ 3 – 4 มี.ค. 63 ส่วนภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะได้รับผลกระทบในวันที่ 4 – 5 มี.ค. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน (2 มี.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 39,131 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุเก็บกักรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 15,757    ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ของปริมาณน้ำใช้การได้ ส่วนปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกัน 9,866 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้รวมกัน 3,170 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ 4 เขื่อนหลัก มีการระบายน้ำรวมกันประมาณวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก

กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เป็นไปตามแผนฯที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านน้ำ และรักษาเสถียรภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้มีเพียงพอทุกพื้นที่ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งเพื่อรักษาคุณภาพน้ำลุ่มน้ำเจ้าพาะยา ส่งผลให้ปัจจุบันสถานการณ์ค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้น้ำตามแผนฯ อย่างเคร่งครัด และใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในอนาคต


ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์