ชี้แจงกรณีขอให้ตรวจสอบการออกรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ กสม.

ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อมวลชนหลายฉบับว่า มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบความโปร่งใส ประสิทธิภาพ มาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการตรวจสอบข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนที่บุคคลดังกล่าวได้ร้องเรียนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ 4 กรณี แต่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบว่าให้ยุติเรื่อง ซึ่งไม่ถูกต้อง การทำงานของ กสม. ไม่ได้มาตรฐานตามพันธกิจ และไม่รู้ว่าองค์กรนี้จะดำรงอยู่ไปทำไม นั้น

นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอชี้แจงเรื่องดังกล่าว ดังต่อไปนี้

1. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อ กสม. ตามคำร้องที่ 27/2561 ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ 4 กรณี กสม. มอบหมายให้คณะทำงานด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ด้านสิทธิและความเสมอภาคทางเพศสภาพซึ่งมีอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคนหนึ่งที่ลาออกไปแล้วเป็นประธานคณะทำงานเป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้และทำความเห็นเสนอ กสม. เพื่อพิจารณาออกรายงานผลการตรวจสอบต่อไป

2.เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562 ผู้รับผิดชอบคำร้องนี้ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเสนอความเห็นต่อ กสม. ดังนี้

2.1 กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ขัดขวางการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม People Go We Walk …เดินมิตรภาพ และแจ้งความดำเนินคดีแก่ผู้จัดกิจกรรมในความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 นั้น พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ที่ต้องหาว่ากระทำความผิดตามที่มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ประกอบกับปัจจุบันมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 (ซึ่งเกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง) แล้ว จึงทำให้ปัญหาได้มีการแก้ไขอย่างเหมาะสมแล้ว เห็นควรยุติเรื่อง

2.2 กรณีเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561 ที่มีการดำเนินคดีแก่กลุ่มบุคคลที่จัดกิจกรรมอยากเลือกตั้ง บริเวณสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน โดยกลุ่มผู้ต้องหาได้รับแจ้งในขณะเดินทางไปรายงานตัวว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ในฐานะพนักงานสอบสวนจะส่งตัวไปขอฝากขังต่อศาล อันจะเป็นเหตุให้ต้องยื่นเรื่องขอประกันตัว กลุ่มผู้ต้องหาจึงมอบหมายให้ทนายความไปขอเลื่อนการรายงานตัว แต่ผู้ถูกร้องไม่อนุญาตและได้ออกหมายเรียกเป็นครั้งที่สองนั้น การอนุญาตให้มีการเลื่อนการรายงานตัวตามหมายเรียกหรือไม่นั้น ย่อมเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวน ในชั้นนี้จึงไม่ปรากฏว่า มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น เห็นควรยุติเรื่อง

2.3 กรณีที่ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ติดต่อผู้บริหารสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents’ Club of Thailand: FCCT) เพื่อให้ระงับและไม่อนุญาตให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง MBK 39 ใช้สถานที่แถลงข่าวที่จะจัดขึ้นในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 นั้น แม้การแถลงข่าวไม่สามารถจัดขึ้นในสถานที่ของ FCCT แต่ผู้ร้องก็ได้ให้สัมภาษณ์และแสดงความเห็นผ่านสื่อมวลชนแล้ว จึงไม่อาจถือได้ว่า มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน  เห็นควรยุติเรื่อง

2.4 กรณีผู้ถูกร้องที่ 3 มีคำสั่งพักใบอนุญาตพีซ ทีวี เป็นเวลา 15 วัน เนื่องจากการเผยแพร่ออกอากาศรายการเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 นั้น เป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย ในชั้นนี้ กรณีไม่ปรากฏการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เห็นควรยุติเรื่องเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีหรือขู่จะดำเนินคดีต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ออกมาดำเนินกิจการสาธารณะซึ่งอาจเข้าข่ายในลักษณะการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ (Strategic Lawsuits Against Public Participation: SLAPPs) ว่า กสม. เคยมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการใช้ช่องทางตามกฎหมาย โดยการฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา หรือที่เรียกว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ (SLAPPs)” ว่าควรกำชับให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ความรอบคอบและความระมัดระวังในการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกของประชาชนต่อการกำหนดนโยบายหรือแผนงานของรัฐที่กระทบต่อประชาชน และควรตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องก่อนที่จะมีการแจ้งความฟ้องร้องดำเนินคดีแก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ตามรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ 132/2561 และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 รับทราบสรุปผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของ กสม.  (ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0505/30736 กราบเรียนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2561) ซึ่งสำนักงาน กสม. ควรติดตามและประเมินสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีเกี่ยวกับการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่องต่อไป

3.เมื่อกระบวนการกลั่นกรองเรื่องก่อนเสนอ กสม. แล้วเสร็จในวันที่ 2 สิงหาคม 2562 และ กสม. พร้อมที่จะพิจารณาเรื่องนี้ในเดือนสิงหาคม 2562 แต่มีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2 คน (ซึ่งรวมทั้งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติผู้รับผิดชอบเรื่องนี้) ลาออกเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ทำให้มีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเหลืออยู่เพียง 3 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งคือ 4 คน จึงไม่สามารถเปิดประชุม กสม. เพื่อออกรายงานผลการตรวจสอบในเรื่องนี้ภายในเดือนสิงหาคม 2562 ได้

4.เมื่อมีการแต่งตั้งบุคคลมาทำหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการชั่วคราวในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 26/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 จึงมีมติให้ยุติเรื่องตามความเห็นของผู้รับผิดชอบคำร้องตามรายงานผลการตรวจสอบ ที่ 361/252 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562

อนึ่ง หากคู่กรณีไม่เห็นด้วยกับรายงานผลการตรวจสอบของ กสม. ก็อาจมีคำขอต่อ กสม.ให้พิจารณารายงานผลการตรวจสอบใหม่ ตามระเบียบ กสม. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2561 ข้อ 43 ได้


สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ