อาชีวศึกษาเกษตร จัดทัพสู่ Digital Farming

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “จัดทัพสู่ Digital Farming” พร้อมมอบนโยบาย โดยมี นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มอบนโยบายสู่การปฏิบัติ ดร.ชาติชาย เกตุพรหม ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด บรรยายพิเศษ เรื่อง รูปแบบการบริหารการจัดการอาชีวศึกษาเกษตรเพื่อการสร้างเกษตรกรยุคใหม่ Young Smart Farmer ของสถานศึกษาสังกัด สอศ. ดร.ศุภชัย ศรีหล้า ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะทำงานติดตามแผนงานและงบประมาณ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายเรื่อง “ปฏิรูปอาชีวะเกษตรสู่ Digital Farming” นายกันตพงษ์ แก้วกมล ประธานกลุ่ม Young Smart Farmer Thailand บรรยายเรื่อง เกษตรกรรุ่นใหม่หัวใจไอที ณ โรงแรมเดอะ บลูม บาย ทีวีพูล (The Bloom by TV Pool เขาใหญ่) จังหวัดนครราชสีมา

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดูแลวิทยาลัยเกษตรและวิทยาลัยประมง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีนโยบายในการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ พัฒนาสถานศึกษาให้เป็นผู้นำด้านการเกษตรและการประมง เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรให้กับเยาวชน เกษตรกรและชุมชน ยกระดับ
และพัฒนาการเรียนการสอนไปสู่ Digital Farming โดยการนําวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเกษตรให้มากขึ้น การบริหารจัดการน้ำ ดิน ปุ๋ย และป่าไม้ การใช้เทคโนโลยีเพื่อศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ การสร้างการเรียนรู้แบบใหม่เพื่อนําข้อมูลมาวิเคราะห์ วางแผนในการทํางานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตรและการประมง จึงจําเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือกับภาคี เครือข่ายจากสถานประกอบการ สมาคมศิษย์เก่า กรรมการสถานศึกษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป

นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ 2563 ในระดับอาชีวศึกษา โดยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กำกับดูแลขับเคลื่อนอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง มุ่งจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำและสร้างนวัตกรรมตามความต้องการของพื้นที่ชุมชน ภูมิภาคหรือประเทศ รวมทั้งการเป็นผู้ประกอบการ สอศ.ให้ความสำคัญการขับเคลื่อนอาชีวศึกษาเกษตร การจัดการศึกษาระบบทวิภาคี ทั้งในระดับ ปวช. ปวส.และระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ ได้สร้างความร่วมมือและสร้างเป้าหมายร่วมกันกับเครือข่ายเพื่อหาแนวทางในการจัดการศึกษาร่วมกัน โดยมุ่งการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำและสร้างนวัตกรรท รวมทั้งเป็นผู้ประกอบการเพื่อเตรียมความพร้อมก้าวเข้าสู่การจัดการฟาร์มที่ทันสมัย (Smart Farming)

ดร.ชาติชาย เกตุพรหม ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด กล่าวว่า การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “จัดทัพสู่ Digital Farming” เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือไปสู่เป้าหมายร่วมกันกับ Stakeholders และเพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่ Digital Farming การประชุมสัมมนาครั้งนี้ มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “การปฏิรูปอาชีวเกษตรสู่ Digital Farming และเกษตรกรรุ่นใหม่หัวใจไอที การแบ่งกลุ่มย่อย และการนำเสนองานกลุ่มเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการสู่เป้าหมายร่วมกันกับภาคีเครือข่ายและผู้เกี่ยวข้อง โดยมีผู้บริหารสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคเหนือ สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคกลาง และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคใต้ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและวิทยาลัยประมง ทั้ง 47 แห่ง รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานและความร่วมมือ ครูหัวหน้าฟาร์ม ประธานกรรมการวิทยาลัย ตัวแทนศิษย์เก่า ตัวแทนสถานประกอบการ และ Smart Farming รวมทั้งสิ้น 400 คน

เลขาธิการ กล่าวปิดท้ายว่า “สถาบันอาชีวเกษตรทั้ง 4 ภาค มีบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลจัดการเรียนการสอนและการฝึกอบรมวิชาชีพของวิทยาลัยในสังกัด ได้ให้ความสำคัญของการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีทั้งในระดับ ปวช. ปวส. และระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ จึงได้สร้างความร่วมมือและสร้างเป้าหมายร่วมกันกับ Stakeholders เพื่อหาแนวทางในการจัดการศึกษาร่วมกัน และเพื่อให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ในการมุ่งจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำและสร้างนวัตกรรมตามความต้องการของพื้นที่ชุมชนภูมิภาคหรือประเทศ รวมทั้งการเป็นผู้ประกอบการเอง เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่ Digital Farming ตอบสนองนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ”

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สอศ. / 29 ก.พ. 63