ชป.เข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาต้านภัยแล้ง การประสานความร่วมมือแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน เข้าร่วมพิธีตรวจความพร้อมทรัพยากรของหน่วยงานและปล่อยขบวนยานพาหนะ กิจกรรมจิตอาสาต้านภัยแล้ง การประสานความร่วมมือแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน ตามนโยบายของ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ที่สั่งการให้ชลประทานทั่วเทศเตรียมความพร้อมการให้ช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งซึ่งจัดโดยศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กรมกิจการพลเรือนทหารบก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) รวม 22 จังหวัด

นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 เปิดเผยว่า ส่วนของกรมชลประทานได้จัดส่งรถบรรทุกน้ำ จำนวน 5 คัน เครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว เพื่อเข้าร่วมสนับสนุนกิจกรรม สําหรับกิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การตรวจความพร้อมของส่วนรวม ประกอบด้วย การตรวจสายการบังคับบัญชา การตรวจการติดต่อสื่อสาร การตรวจยานพาหนะของกําลังพล ทุกภาคส่วน จํานวนทั้งสิ้น 1,219 คน หน่วยที่เข้ารับการตรวจความพร้อม จํานวน 18 หน่วย ยานพาหนะ 60 คัน ส่วนขั้นตอนที่ 2 เป็นการปล่อยขบวนยานพาหนะของหน่วยปฏิบัติการแก้ปัญหาภัยแล้ง เพื่อเดินทางเข้าสู่พื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งเพื่อดําเนินการปฏิบัติตามแผน ของแต่ละอําเภอ ตามที่ได้มีการวางแผนเตรียมการปฏิบัติต่อภัยแล้งไว้แล้ว โดยมีจังหวัดที่ร่วมดําเนินการพร้อมกับจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ประกอบด้วย เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา

ทั้งนี้ กิจกรรมจิตอาสาต้านภัยแล้งฯ ได้ดําเนินมาตั้งแต่วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีการอบรมจิตอาสาต้านภัยแล้ง ด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด ผู้ปฏิบัติงานในสํานักงานชลประทานจังหวัด สํานักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สํานักงานเกษตรจังหวัด และสํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด 22 จังหวัดที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือภัยแล้ง ณ หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยมีจังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดต้นแบบจิตอาสาต้านภัยแล้ง และนําจิตอาสาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ฝึกและสํารวจพื้นที่เป้าหมาย ในพื้นที่อําเภอปักธงชัย อําเภอโนนสูง และอําเภอชุมพวง ซึ่งเป็นอําเภอต้นแบบของจังหวัดนครราชสีมา ส่วนกิจกรรมสุดท้ายของจิตอาสาต้านภัยแล้งฯ คือการตรวจความพร้อมและปล่อยขบวนยานพาหนะในวันนี้(28 ก.พ. 63) ซึ่งจะมีการขยายผลการดําเนินการให้ความช่วยเหลือไปสู่อําเภออื่นๆต่อไป