บิ๊กอู๋ ! ย้ำ จนท.ตรวจต่างด้าว ผู้ประกอบการ ใช้วาจาสุภาพ นุ่มนวล

วันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ที่ห้องประชุมประสงค์ รณะนันนท์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมสรุปผลการจัดชุดปฏิบัติการ 113 ชุด ตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวทั่วประเทศ หลังปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ One Stop Service 15 วัน (1-15 กรกฎาคม 2561) ย้ำเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ 113 ชุด ตรวจสอบนายจ้าง/สถานประกอบการและการทำงานของแรงงานต่างด้าวด้วยความสุภาพนุ่มนวล อย่าใช้ความรุนแรง พร้อมเผยยอดการตรวจสอบนายจ้างกว่า 1,600 ราย/แห่ง จับกุมดำเนินคดีไปแล้วกว่า 150 ราย/แห่ง ขณะที่ตรวจสอบแรงงานต่างด้าวแล้วกว่า 30,000 คน จับกุมดำเนินคดีแล้วกว่า 800 คน โดยมี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ฝ่ายความมั่นคง ร่วมประชุม

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการเปิดให้มีการจัดทำทะเบียนประวัติ ตรวจลงตรา (วีซ่า) และขออนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวกัมพูชา ลาว เมียนมา ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบถูกต้องตามกฎหมายจำนวนทั้งสิ้น 1,187,803 คน คิดเป็น 90 % เป็นกัมพูชา 350,840 คน ลาว 59,746 คน เมียนมา 777,217 คน ซึ่งจากผลสำเร็จนี้ แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่เดิมทำงานอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาตและได้รับการผ่อนผันมาตั้งแต่ปี 2558 ได้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องแล้ว ในส่วนที่ไม่ได้เข้าระบบก็จะเปลี่ยนสถานภาพการทำงานในรูปแบบอื่น เช่น MOU Borderpass จ้างงานตามฤดูกาล เป็นต้น ซึ่งภายหลังจากปิดศูนย์ OSS กระทรวงแรงงานได้มีมาตรการในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว โดยบูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดชุดปฏิบัติการตรวจสอบแรงงานต่างด้าว จำนวน 113 ชุด ประกอบด้วย สำนักงานจัดหางานจังหวัด ตำรวจท้องที่ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ฝ่ายปกครอง ทหาร โดยมี ตชด. และ บช.ก.สนับสนุนการปฏิบัติ เข้าตรวจสอบปราบปราม จับกุมและดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการและแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตที่โรงงาน สถานประกอบการ ร้านค้า และนายจ้าง วางแผนดำเนินการ 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 1-15 กรกฎาคม 2561 ครั้งที่ 2  วันที่ 1-15 สิงหาคม 2561 และครั้งที่ 3 วันที่ 1-15 กันยายน 2561

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของชุดปฏิบัติการ 113 ชุด ปรากฏว่า ตั้งแต่วันที่ 1-15 กรกฎาคม 2561 ตรวจสอบนายจ้าง/สถานประกอบการไปแล้วจำนวน 1,623 ราย/แห่ง ตรวจสอบแรงงานต่างด้าว จำนวน 30,111 คน จับกุมดำเนินคดีนายจ้าง 156 ราย/แห่ง คิดเป็น 9.61 % ดำเนินคดีแรงงานต่างด้าว จำนวน 816 คน คิดเป็น 2.70 % ส่วนใหญ่เป็นเมียนมา 415 คน รองลงมาเป็นกัมพูชา 267 คน ลาว 78 คน เวียดนาม 36 คน และสัญชาติอื่นๆ 20 คน ตามลำดับ โดยนายจ้างมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อหารับคนต่างด้าวเข้าทำงาน

โดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จำนวน 119 ราย/แห่ง ความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522  ข้อหา 1) ให้ที่พักพิง ซ่อนเร้น คนต่างด้าวผิดกฎหมาย และ 2) ให้คนต่างด้าวเข้าพักอาศัยไม่แจ้ง จำนวน 2 ราย/แห่ง และมีความผิดทั้ง พรก.การบริหารฯ และ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ จำนวน 35 ราย/แห่ง แรงงานต่างด้าวมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จำนวน 687 คน ความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ข้อหา (1) อยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต (2) ประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต และ (3) ไม่แจ้งการอยู่ในราชอาณาจักรเกิน 90 วัน จำนวน 291 คน

ทั้งนี้ผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าวที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกฎหมายจะต้องได้รับโทษตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อหา“รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้” มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ส่วนแรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับโทษ ขณะเดียวกันทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าวยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 โดย นายจ้างให้ที่พักพิง ซ่อนเร้น คนต่างด้าวผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท และให้คนต่างด้าวเข้าพักอาศัยไม่แจ้ง มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ขณะที่แรงงานต่างด้าว 1) อยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท   2) ประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน10,000 บาท 3) ไม่แจ้งการอยู่ในราชอาณาจักรเกิน 90 วัน มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท แรงงานต่างด้าวที่ถูกจับกุมเมื่อคดีอาญาสิ้นสุดแล้วจะถูกส่งกลับโดยเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมือง มีเส้นทางในการผลักดันส่งกลับคือ กัมพูชาที่จังหวัดสระแก้ว ลาวที่จังหวัดหนองคาย อุบลราชธานี และมุกดาหาร เมียนมาที่จังหวัดตาก เชียงราย สำหรับแนวทางต่อไปเมื่อครบ 3 ครั้ง จะเป็นการดำเนินการตามกฎหมายโดยตำรวจในพื้นที่ ซึ่งจังหวัดจะมีคณะกรรมการร่วมตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมในวันนี้ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความนุ่มนวล ใช้วาจาสุภาพ ไม่ใช้ความรุนแรง และขอแนะนำนายจ้าง/ผู้ประกอบการว่าหากมีแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ ขอให้หยุดการจ้าง อย่าจ้างต่ออีกเป็นอันขาด เพราะผิดกฎหมาย ซึ่งมีโทษหนัก ดังนั้นจึงขอให้จ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเป็นแรงงานที่เข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางานเท่านั้น โดยแรงงาน 3 สัญชาติคือ กัมพูชา ลาว เมียนมา สามารถเข้ามาทำงานได้ตามระบบ MOU ซึ่งสามารถติดต่อสอบถาม หรือหากพบเห็นคนต่างด้าวทำงานผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่ กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือ โทร.0 2354 1729  สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทร. สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน