สศก. โชว์ผลงานกระทรวงเกษตรฯ ผลักดันความมั่นคงอาหารในเวที PPFS

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมหุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านความมั่นคงอาหาร (Policy Partnership on Food Security: PPFS) ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก หรือ เอเปค ระหว่างวันที่ 4 – 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ เมืองปูตราจายา  ประเทศมาเลเซีย  ภายใต้หัวข้อหลัก คือ “การใช้ประโยชน์สูงสุดจากศักยภาพมนุษย์ เพื่ออนาคตที่รุ่งเรืองร่วมกัน” ประกอบด้วย 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาบริบทของการค้าและการลงทุน การมีส่วนร่วมที่ครอบคลุมในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี และการพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืน

โอกาสเดียวกันนี้ สศก. ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหารของกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ในประเด็นต่างๆ ได้แก่ 1) กรอบการจัดทำแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร ปี 2563 – 2565 เพื่อลดต้นทุน โลจิสติกส์สินค้าเกษตร โดยให้ความสำคัญกับทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการให้สามารถส่งสินค้าเกษตรถึงผู้บริโภคได้โดยตรง 2) การดำเนินการของคณะอนุกรรมการด้านการลดการสูญเสียอาหาร ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเส้นฐานระดับชาติ (National baseline) ด้านสูญเสียอาหารจำนวน 18 รายการ 3) การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2560-2565 และ แผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2565) เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และสนับสนุนความปลอดภัยของอาหารและโภชนาการ  4) การจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center: AIC) ทั้ง 77 จังหวัด เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรและผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น  ขณะที่ผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการของภาคเอกชนในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการเกษตร ภายใต้มาตรฐาน ThaiGAP เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่สามารถควบคุมได้

นอกจากนี้ ยังมีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับการดำเนินโครงการต่างๆ ที่สนับสนุนความมั่นคงอาหารในภูมิภาค และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหารและการเกษตรของแต่ละเขตเศรษฐกิจ อาทิ แคนาดา ดำเนินนโยบายที่ให้ความสำคัญกับอาหารเพื่อสุขภาพและโภชนาการและเชื่อว่าเทคโนโลยีชีวภาพจะสามารถช่วยสนับสนุนความมั่นคงอาหาร  สาธารณรัฐชิลี ให้ความสำคัญกับการปรับตัวต่อ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ญี่ปุ่น นำเสนอวิสัยทัศน์ของญี่ปุ่น ในปี 2563 ที่ให้ความสำคัญกับโภชนาการที่ดี เกาหลีและมาเลเซีย ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรรุ่นเยาว์ตั้งรกรากในชนบท เวียดนาม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตรเพื่อดึงดูดนักลงทุน โดยสามารถเพิ่มสัดส่วน GDP ของภาคการเกษตรได้ถึงร้อยละ 2.2 ในปี 2562

ทั้งนี้ การประชุม PPFS เป็นเวทีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายส่งเสริมความมั่นคงอาหารในภูมิภาค ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือโดยสมัครใจ และไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย โดยในเดือนสิงหาคมนี้ จะมีการประชุม PPFS อีกครั้งในช่วงสัปดาห์ความมั่นคงอาหาร (Food Security Week) ณ เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย