อย. สานพลัง MPCT ติวเข้มหน่วยวิจัยนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ หวังสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

อย. ร่วมกับ เครือข่ายความร่วมมือด้านผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์แห่งประเทศไทย (MPCT) จัดอบรมการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ : Essential Regulatory Requirements for Medical Device Approval ให้นักวิจัยและผู้สนใจผลิตเครื่องมือแพทย์ เข้าใจและมีความสามารถในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์อย่างเป็นระบบภายใต้กฎหมายและข้อกำหนดสากล หวังให้เครื่องมือแพทย์เป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของไทย

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ประธานคณะกรรมการเครือข่ายความร่วมมือด้านผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์แห่งประเทศไทย (MPCT) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมหลักสูตร Essential Regulatory Requirements for Medical Device Approval ณ ห้อง 1210 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เปิดเผยว่า ในปัจจุบันสถานการณ์อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทย มีการนำเข้าเครื่องมือแพทย์มากกว่าการผลิตและส่งออก ซึ่งการผลิตและส่งออกส่วนใหญ่นั้นเป็นบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนภายในประเทศและส่งกลับไปยังประเทศตนเอง ทำให้ประเทศไทยต้องเสียดุล ทางเศรษฐกิจในแต่ละปี รัฐบาลจึงมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ โดยเฉพาะการสร้างสรรค์ภูมิปัญญานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทย เพื่อลดการสูญเสียทางการเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีการรักษาขั้นสูง รวมทั้งยังสามารถส่งออกจำหน่ายในต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐจำเป็นต้องสนับสนุนให้นักวิจัยและผู้ผลิตมีความเข้าใจในเรื่องกฎหมาย ข้อบังคับ หรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือแพทย์ ดังนั้น อย. ร่วมกับ MPCT จึงได้จัดอบรมให้แก่นักวิจัย ผู้ผลิต และผู้ที่สนใจในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ให้ประสบผลสำเร็จสามารถเข้าสู่ตลาดภายในประเทศและตลาดสากลได้ เพิ่มความคุ้มค่าต่อการลงทุนวิจัยและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยด้วยเทคโนโลยี หวังสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยมีผู้สนใจเข้ารับการอบรม จำนวนกว่า 500 คน

เลขาธิการฯ อย. กล่าวย้ำในตอนท้ายว่าอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มี มูลค่าสูงและ มีโอกาสในการพัฒนาอีกมาก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตเครื่องมือแพทย์ปีละกว่า 39,500 ล้านบาท แบ่งเป็น ส่งออก 27,900 ล้านบาท ใช้ภายในประเทศ 11,600 ล้านบาท ถือเป็นเรื่องดี ที่นักวิจัยและผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทยให้ความสนใจและมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ให้เทียบเท่าระดับสากล ซึ่งภาครัฐจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ในที่สุด