กรมส่งเสริมสหกรณ์เดินหน้าพัฒนาการบริหารจัดการสหกรณ์ให้เข้มแข็ง พร้อมสนับสนุนสหกรณ์รวบรวมผลผลิตการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร

กรมส่งเสริมสหกรณ์เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งระบบสหกรณ์ พัฒนาระบบการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ ใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาช่วยดูแลความเป็นอยู่ประชาชนทุกพื้นที่ โดยเฉพาะสหกรณ์ภาคการเกษตร ควรมุ่งเน้นการรวบรวมผลผลิตการเกษตร เพื่อดูแลความเป็นอยู่ให้กับเกษตรกร พร้อมส่งเสริมการผลิตสินค้าปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ในสหกรณ์  ผลิตสินค้าที่ตลาดต้องการ  เพื่อสร้างรายได้

นายพิเชษฐ์  วิริยะพาหะ  อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวระหว่างการร่วมงานวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2563 ณ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ถนนพิชัย กรุงเทพฯ ว่า ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันสหกรณ์แห่งชาติ ซึ่งในปีนี้ครบรอบ 104 ของการสหกรณ์ไทย นับตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการนำวิธีการสหกรณ์เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพให้กับประชาชน ปัจจุบันมีสหกรณ์มีจำนวนกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์  มีนโยบายในการยกระดับสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง โดยจะดำเนินการใน 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.การบริหารจัดการของสหกรณ์  โดยเฉพาะเรื่องระบบการควบคุมภายใน ซึ่งคณะกรรมการสหกรณ์และฝ่ายจัดการต้องร่วมกันวางแผนการจัดการตัวองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพ ลดปัญหาเรื่องข้อบกพร่อง  2.การพัฒนาด้านธุรกิจของสหกรณ์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับอาชีพและรายได้ของสมาชิก ดังนั้น สหกรณ์ควรทำธุรกิจที่สอดคล้องกับความต้องการและเอื้อต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องสมาชิกสหกรณ์ โดยกรมฯจะมุ่งเป้าไปที่สหกรณ์ภาคการเกษตร สนับสนุนให้รวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น  เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคา มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และการเก็บชะลอผลผลิตเพื่อยืดอายุหรือทยอยระบายผลผลิตสู่ตลาด ซึ่งจะช่วยพยุงราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่ำ

ส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์ จะมุ่งเน้นการสร้างระบบการตรวจสอบภายในของสหกรณ์ ให้ความรู้กับสมาชิก ได้เข้ามามีส่วนในการติดตามตรวจสอบการการดำเนินงานสหกรณ์ของตัวเอง เนื่องจากสมาชิกเป็นเจ้าของสหกรณ์ ซึ่งกรมฯจะให้ความรู้ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเงินให้กับสมาชิกผ่านทางออนไลน์ ให้สมาชิกได้เรียนรู้ว่าสหกรณ์ต้องเปิดเผยข้อมูลอะไรบ้าง เพื่อให้สมาชิกได้รับรู้ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในสหกรณ์ และในส่วนของการกำกับดูแลสหกรณ์ซึ่งเป็นบทบาทของกรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์  ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์เข้าไปดูแลระหว่างที่สหกรณ์มีการประชุมใหญ่ คอยให้คำแนะนำในสิ่งที่ถูกต้อง และหากพบข้อบกพร่องเกิดขึ้นในสหกรณ์ ต้องมีแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายลุกลามถึงตัวสมาชิกหรือสหกรณ์อื่น ๆ

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ ทั้งภาคออมทรัพย์และภาคการเกษตร เนื่องจากปัจจุบันหนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น  กรมฯจึงมีโครงการเพื่อส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้กับสมาชิกสหกรณ์ เพื่อให้มีเงินเหลือพอชำระหนี้คืนสหกรณ์ และใช้กลไกสหกรณ์เข้ามารองรับนโยบายของภาครัฐ เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือไปถึงสมาชิกสหกรณ์และประชาชนทั่วไป ซึ่งขณะนี้ กรมฯได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เช่น การสร้างซูปเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์  ให้เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าและผลผลิตสู่ผู้บริโภค  และจะผลักดันให้สหกรณ์ผลิตสินค้าปลอดภัย โดยตั้งเป้าว่าจะมีสหกรณ์กว่า 100 แห่งเข้าสู่กระบวนการผลิตสินค้าปลอดภัยและสินค้าเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ ยังมีโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน เป็นการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่  ที่สนใจจะกลับไปประกอบอาชีพการเกษตร มีคนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 7,500 คน โดยกรมฯจะดึงสหกรณ์แต่ละพื้นที่เข้ามาร่วมในการดูแลแนะนำให้ความรู้และช่วยเหลือการประกอบอาชีพ และหวังว่าคนกลุ่มนี้จะเข้ามาช่วยบริหารจัดการสหกรณ์ในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันผู้บริหารสหกรณ์ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 65-70 ปี จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมและสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นผู้บริหารสหกรณ์ภาคการเกษตร  ซึ่งทั้งหมดนี้คือทิศทางในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อพัฒนาสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งในปี 2563 นี้